สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสัมมนา 'การสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยในบทเรียนและประสบการณ์ของภาคประชาสังคม' มีนักวิชาการนำเสนอหลายบทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอบทความ 2 ทศวรรษการเมืองภาคประชาสังคมในบริบทที่เปลี่ยนแปลง กับประชาธิปไตยและรัฐอำนาจนิยมแบบไทย โดยยืนยันว่า รัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด สัมพันธ์และส่งทอดกันหรือเป็นรัฐประหาร 2 พี่น้อง ที่ทำให้ไทยถดถอยจากระบบรัฐสภาสู่การปกครองแบบอำนาจนิยมอย่างชัดเจน
โดยคนในภาคประชาสังคมที่สนับสนุนรัฐประหารเข้าไปมีบทบาทและตำแหน่งทางการ มีการขยายและสนับสนุนการใช้อำนาจพิเศษ มีรูปแบบการเมืองรวมศูนย์ ที่ฐานความชอบธรรมมาจากความรู้สึกส่วนตัว มีการจำกัดเสรีภาพ และการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารต่างๆไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน ซึ่งภาคประชาสังคมต้องทบทวนตัวเองว่า มีส่วนสร้างหรือว่าฉุดรั้งประชาธิปไตยกันแน่
พร้อมย้ำว่า โครงการประชารัฐ ไม่ใช่ประชาสังคม แต่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีบทบาทสูง ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่พื้นที่ไม่ติดชายฝั่งอย่างที่ควรจะเป็น แต่ไปอยู่ชายแดน เพราะต้องการแรงงานข้ามชาติราคาถูกสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น จึงเป็นคำถามว่า ใครจะเป็นผู้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ใต้ทิศทางเช่นนี้