สมาชิก สนช.ทักท้วงกฎหมาย ป.ป.ช.ที่เพิ่มอำนาจ คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ได้กรณีเชื่อว่ามีการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยเป็นการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีจำนวน 193 มาตรา มีเนื้อหาสำคัญให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเดิมอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนเนื้อหาที่ถูกจับตาเป็นพิเศษคือ การให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกช่องทาง อาทิ เข้าถึงข้อมูลทางโทรเลข โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต หรือกระทำความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถยื่นคำขอต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อให้เจ้าพนักงานได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้
ทันทีที่เข้าสู่วาระ สมาชิก สนช. ได้ขอให้กรรมาธิการตัดมาตราดังกล่าว เนื่องจากการดักฟังทางโทรศัพท์เป็นอำนาจของพนักงานสืบสวน และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีอำนาจไต่สวน ไม่ใช่สืบสวนด้วยวิธีการดักฟัง จึงเห็นว่าการให้อำนาจ ป.ป.ช.มากจนเกินไปจนอาจส่งผลต่อการใช้อำนาจในอนาคตได้
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรียกร้องให้ สนช.ตัดมาตราที่เกี่ยวกับการให้อำนาจเจ้าพนักงานเข้าถึงข้อมูลทุกช่องเพื่อสะกดรอยผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เพราะเป็นการออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ถ้า สนช.ยังเห็นชอบกับมาตราดังกล่าวก็จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความต่อไป