ไม่พบผลการค้นหา
'ปฏิรูปตำรวจ' ต้องยกเลิกโครงสร้างอย่างกองทัพ
May 4, 2018 05:31

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม โดยความร่วมมือกับไทย พีบีเอส และองค์กรเครือข่าย จัดเวทีถกแถลงแจงปฏิรูป หัวข้อ “การปฏิรูปตำรวจ” ในวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ 1 อาคารศนูย์การเรียนรู้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถ.วิภาวดีรังสิต โดยผู้จัดงานงานเชิญนักการเมืองแต่ละพรรคมาร่วมรับฟังและถกแถลง เนื่องจากในอนาคตอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายทั้งในฐานะฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

vlcsnap-2018-05-04-12h09m42s715.png

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กองทัพไทยขณะนี้มีความแตกต่างจากกองทัพในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กองทัพไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยขณะนี้เรากำลังจะทำให้กองทัพตำรวจกลายเป็นแบบเดียวกับกองทัพไทย ที่มีปัญหาการบริหาร 

ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดที่การปฏิรูปต้องให้ตำรวจส่วนหนึ่งไปอยู่กับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ นายก อบต. โดยตำรวจจังหวัดทำหน้าที่บางเรื่อง เช่น จราจร หรือ คดีเล็กน้อย แต่เรื่องสำคัญต้องมีตำรวจส่วนกลางไปจัดการเพื่อการตรวจสอบระหว่างตำรวจส่วนกลางและตำรวจจังหวัด 

ปัจจุบันตำรวจไม่ฟังประชาชนเพราะไม่ว่าผลงานจะดีหรือไม่ คนที่จะสั่งย้ายไม่ใช่คนในจังหวัด แต่ก็คือ ผบ.ตร. ฉะนั้น การกระจายอำนาจออกไปจะทำให้การบริการประชาชนดีขึ้น  

อีกส่วนคือ ยศตำรวจ ไม่ควรจะมียศแบบทหาร รวมถึงระบบที่ให้ตำรวจไปเรียนร่วมกับทหารในโรงเรียนเตรียมทหาร 2 ปี ก็เป็นเรื่องประหลาด เพราะการจะฝึกคนมาเป็นตำรวจและเป็นทหาร เป็นคนละเรื่องคนละแนวทางกัน ดังนั้น ต้องยกเลิก  


vlcsnap-2018-05-04-12h10m09s279.png

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ พรรคเกรียน กล่าวว่า ที่ผู้จัดงานบอกว่าฝ่ายการเมืองมีอนาคตอาจเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ความจริงไม่ได้มีเพียงแค่นั้น เพราะยังมีโอกาสเป็นจำเลยได้ด้วย ทุกวันนี้ขึ้นศาลทหารอยู่ ส่วนตัวก็มีคดีการเมืองหลายคดี ไม่ใช่คดีอาชญากรรมแต่เป็นคดีเกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพในฐานะพลเมือง แม้แต่การไปพูดว่าอยากเลือกตั้งก็ยังโดนคดี 

คดีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างทางอำนาจโดยรวมของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีวัฒนธรรมการใช้อำนาจที่แฝงในทุกอณูของสังคม ขณะที่ตำรวจมือหนึ่งถือกฎหมาย มือหนึ่งถือปืน ถ้าจะปฏิรูปตำรวจต้องพูดถึงอำนาจก่อน ต่อให้ไม่มีการจ่ายตังค์เรื่องการแต่งตั้ง แต่ด้วยวัฒนธรรมอำนาจก็จะทำให้มีการเรียกเก็บส่วย เรียกหาผลประโยชน์ต่อไป ดังนั้น ต้องสร้างขบวนการคานอำนาจ ในวัฒนธรรมตำรวจให้ประชาชนมีส่วนร่วม 


vlcsnap-2018-05-04-06h42m33s377.png

นายศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่เป็นธรรม หรือ หลักคุณธรรมเสื่อมคลอนก็ด้วยการแทรกแซงทางการเมือง วงการตำรวจ ใครๆ ก็รู้ว่าต้องมี “ตั๋ว” ในการแต่งตั้งโยกย้าย นอกจากนั้น แต่ละจังหวัดยังมี “บ้านใหญ่” ซึ่งเช้าๆ แต่ละวันจะมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปที่บ้านใหญ่ ขณะเดียวกันเจ้าของบ่อนใหญ่ก็มาด้วย มากินกาแฟด้วยกัน ฉะนั้น เมื่อการเมืองแทรกแซง ความเป็นธรรมก็ไม่เกิด 

นายตำรวจที่ติดตามรัฐมนตรี ก็ได้เลื่อนขั้นทุกปี วันนี้ไม่มีแล้วรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง มีแต่ คสช. อนุมัติงบ เงินเดือนให้ผู้ทำงานให้คสช. ใครก็ตามที่เข้าไปศูนย์กลางได้ก็มีโอกาสเติบใหญ่ ดังนั้น ตำรวจที่ทำงานขันแข็งจึงไม่รู้สึกมั่นคง ตำรวจส่วนใหญ่จึงอยากปฏิรูป   


vlcsnap-2018-05-04-06h43m07s644.png

นายสาธิต ปิตุเตชะ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องที่ว่าตำรวจต้องปลอดจากการเมืองและกระแสว่านักการเมืองเลวทั้งหมด เราต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องจริง เพราะทุกอาชีพก็มีทั้งคนดีคนเลว เราต้องพูดใหม่ว่า ตำรวจต้องปลอดจากการใช้อำนาจเพื่อส่วนตัว เพราะต่อให้ไม่มีนักการเมืองมาสั่งสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ ก็อาจจะมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงมาสั่งได้ด้วย เช่น การไม่สั่งสอบพยาน ก็มีช่องว่างในคดี ได้ ดังนั้น ต้องไม่ใช่บอกว่าปลอดจากการเมือง แต่ต้องปลอดจากเรื่องประโยชน์ส่วนตัว   


vlcsnap-2018-05-04-06h44m04s443.png

นายชำนาญ จันทร์เรือง พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ตราบใดที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีทางปฏิรูปตำรวจได้ พรรคอนาคตใหม่มองว่า ต้องปฏิรูปทั้งองคาพยพ หลักประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการกระจายอำนาจก็ปฏิรูปไม่ได้ สำหรับสาเหตุว่าทำไมเน้นให้ตำรวจอยู่กับท้องถิ่น เพราะรากศัพท์คำว่า Police ภาษากรีกแปลว่าเมือง ชุมชน ฉะนั้น ต้องกระจายอำนาจโครงสร้างการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย เมื่อเป็นประชาธิปไตยอำนาจจะอยู่ท้องถิ่น  


vlcsnap-2018-05-04-06h44m22s690.png

นายนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ระบบตำรวจที่มีปัญหาเพราะหลังยึดอำนาจปี 2475 เราให้ทหารออกแบบโครงสร้างตำรวจ จึงมีสายบังคับบัญชาจากบนลงล่าง ขณะที่เป้าหมายทหารจัดการกับศัตรู แต่ตำรวจทำงานกับประชาชน ดังนั้น การปฏิรูปปัจจุบันจึงผิดทิศผิดทาง ให้ความสำคัญแต่กับ ผบ.ตร. 


vlcsnap-2018-05-04-06h46m36s129.png

ดร.มนุชญ์ วัฒนโกเมร ประธานอนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวว่า บางเรื่องที่เสนอแล้วกระทบกับตำรวจมากๆ ก็จะมีแรงต้าน เช่น อนุฯ เคยเสนอว่าทำอย่างไรให้ตำรวจมีความผูกพันกับจังหวัด ให้หัวหน้าตำรวจจังหวัด กับหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกันปราบปราม ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์สาธารณสุข ปลัดจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีความสัมพันธ์แบบหลวมๆ การรับรู้งานแบบหลวมๆ เราต้องการให้เขาทำงานร่วมกัน จึงขอแก้ไขพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการให้ตำรวจจังหวัดเป็นส่วนราชการประจำจังหวัด แต่ตำรวจค้านอย่างหนักแน่น จนกระทั่งต้องถอน เพราะถ้าไม่ถอนก็จบไม่ได้