รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2563
“อ.พิชญ์” มองความจริงใจของ “รัฐบาล” จะสร้างความปรองดองแทบไม่มี ถ้ายังไม่เลิกมอง “ธนาธร–ปิยบุตร–ช่อ” อยู่เบื้องหลังม็อบ! แนะต้องกล้าเขียนความจริง หลังกระบวนการสร้างความปรองดองในไทย ยังไม่สำเร็จ ตอกย้ำด้วยกระบวนการสร้างความปรองดองของ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ที่อ้างว่าเขียนข้อเท็จจริง แต่คนเสื้อแดงก็ไม่อาจจะรับได้
ส่วนกรณีบางพรรคการเมือง แสดงท่าทีว่า อาจไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ เพราะมองว่าเป็นการซื้อเวลามากกว่าหาทางออกให้ประเทศนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า คณะกรรมการสมานฉันท์เป็นไปตามกลไกรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ จึงขอให้ไปทบทวนความเหมาะสม หากจะไม่เข้าร่วม เพราะหากไม่เข้าร่วม จะร่วมประชุมสภาฯ เพื่ออะไร ทั้งที่เป็น ส.ส.ต้องทำหน้าที่ เป็นผู้แทนประชาชน สะท้อนความคิดทุกกลุ่มทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น การกดดันในเรื่องนี้ ถือว่าไม่ถูกต้อง และย้อนถามว่าประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างนี้หรือ และไม่ขอออกความคิดเห็น แต่ให้ไปดูที่เจตนา
ขณะที่นายวิษณุ ระบุถึงกรณีเดียวกันว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ แต่รู้สึกว่าเขายังไม่ปฏิเสธ เพราะเขาเองก็ยังไม่เห็นรูปแบบ ตอนนี้ทุกคนยังไม่รู้ว่าหน้าตาคณะกรรมการ อย่าว่าแต่ฝ่ายค้าน ฝ่ายไหนก็ยังไม่เห็นรูปแบบ เพราะฉะนั้นก็คงจะลังเลอยู่
เมื่อถามว่าอยากให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคนตั้ง อย่าเพิ่งไปพูดตอนนี้ ตีปลาหน้าไซ พูดตอนนี้ เดี๋ยวจะตื่นตกใจกันหมดว่า มีเล่ห์กระเท่ห์ แอบแฝงหรือไม่ ส่วนรัฐบาลจะเข้าร่วมหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ได้คิดอะไรทั้งนั้น ยังไม่ได้วางอะไรไว้ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไร ประกอบด้วยใครบ้าง ถ้ารู้แล้วเขาขอให้มีตัวแทนจากรัฐบาล เราก็คงต้องเอามาพูดกันในคณะรัฐมนตรี
เมื่อถามถึงข้อวิจารณ์ว่าการตั้งคณะกรรมการฯ เป็นการซื้อเวลา นายวิษณุ กล่าวว่า คิดว่าทุกอย่างต้องใช้เวลาทั้งนั้น เพียงแต่ว่าถ้าใช้นานเกินไปมันก็ซื้อ ถ้าใช้เวลาไม่นานมันก็ไม่ได้ซื้อ อย่าหวังว่าทุกอย่างจบที่คณะกรรมการชุดนี้แล้วก็เลิก แฮปปี้แล้ว คงไม่ใช่แบบนั้น การเสนอทางออกอาจเป็นหลายทางก็ได้
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์หาทางออกให้ประเทศว่า นับเป็นเรื่องดีที่นายชวน มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าศึกษาโครงสร้างและรูปแบบของคณะกรรมการฯ เพราะสถาบันพระปกเกล้าเป็นองค์กรทางวิชาการที่มีองค์ความรู้ และบุคลากรที่หลากหลาย ทำงานเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคมอยู่แล้ว มีประสบการณ์ทำงานเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสันติวิถีและการแก้ไขความขัดแย้ง
"อยากฝากสถาบันพระปกเกล้าให้เร่งพิจารณาหาข้อสรุปส่งให้ประธานรัฐสภาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปให้ทันกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่เร็วและแรงมากขึ้นทุกวัน"
ส่วนที่บางฝ่ายวิตกกังวลว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหาทางออกให้ประเทศจะเป็นการซื้อเวลาของฝ่ายบริหารนั้นก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ว่าอาจจะมองแบบนั้นได้ แต่ความเป็นจริง เรื่องนี้ไม่ได้เสนอโดยรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี จึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลซื้อเวลา แต่การตั้งคณะกรรมการหาทางออกประเทศครั้งนี้เป็นข้อเสนอของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอในที่ประชุมรัฐสภา เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อหาทางออกให้ประเทศร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการ 7 ฝ่ายของพรรคประชาธิปัตย์เป็นข้อเสนอบนพื้นฐานของความตั้งใจจริงที่อยากสร้างพื้นที่มีเวทีที่ฝ่ายต่างๆ ได้มาพูดคุยปัญหา ข้อเรียกร้อง ข้อเสนอ เพื่อหาทางออกร่วมกัน การมีเวทีให้พูดคุยกันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าไม่มีเวทีที่จะพูดคุยกัน การปล่อยให้แต่ละฝ่ายต่างคนต่างพูดโดยไม่มีโอกาสหันหน้ามาพูดคุยกัน ยิ่งจะทำให้ช่องว่างของการสร้างความไม่เข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ
"จึงอยากวิงวอนทุกฝ่ายอย่ารีบปฏิเสธเข้าร่วมเวทีพูดคุยกันเพื่อหาทางออกให้ประเทศ เพราะเราต่างเป็นคนไทยเหมือนกัน เราต้องอยู่ในประเทศนี้ร่วมกันต่อไปถึงแม้เราจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เมื่อมีปัญหาขัดแย้งกันจึงควรหันหน้าเจรจาพูดคุยกัน
.