จากกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุห้ามระดมทุนรับบริจาคและขายของที่ระลึกออนไลน์นั้น ทางพรรคอนาคตใหม่ จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกกต.ต่อกรณีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของพรรคการเมืองและอื่นๆ รวม 32 ข้อ เพื่อให้กกต.มีมติแจ้งออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นั้น
ห้ามพรรคอนาคตใหม่ขายของระดมทุน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ผู้สื่่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานกกต. ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ลต.0015/7403 ถึง หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เพื่อตอบข้อซักถามทั้งหมด 32 ข้อ ที่ผ่านการประชุมจากกกต.ครั้งที่ 55/2561 เมื่อวันที่ 22 ต.ค. และการประชุมครั้งที่ 61/2561 เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ด้วยมติเอกฉันท์ มีประเด็นสำคัญดังนี้
ส่วนแรก พรรคอนาคตใหม่ ข้อ 1-6 ถามถึงการตีความ ระเบียบกกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 33 คำว่า “สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ” ได้แก่ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคการเมือง ที่ตั้งสำนักงานสาขาพรรคการเมือง บริเวณสถานที่จัดกิจกรรมระดมทุน บริเวณสถานที่จัดประชุมใหญ่ของพรรคประจำปีของพรรคการเมือง สาขาพรรค หรือที่ทำการพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งคำว่า “ได้แก่” เป็นการยกตัวอย่างใช่หรือไม่
ทั้งถามต่อถึง การขายสินค้าบนเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่า เป็นการจำหน่ายจาก “สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ” ใช่หรือไม่ แล้วหากสมาชิกพรรค หรือบุคคลอื่น ขายสินค้าที่มีโลโก้พรรคการเมือง โดยพรรคไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ย่อมมิใช่การจัดจำหน่ายสินค้า ตามระเบียบกกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หมวด 5 ใช่หรือไม่ แล้วหากสมาชิกหรือบุคคล นำรายได้จากการจำหน่ายสินค้า มาบริจาค ก็ต้องลงบัญชีรับบริจาคใช่หรือไม่
กกต. ตอบว่า คำว่า “ได้แก่” ไม่ใช่การยกตัวอย่าง การขายของออนไลน์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่การจำหน่ายจาก “สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ” ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 62 และระเบียบกกต.ข้อว่าด้วยพรรคการเมืองข้อ 33 ส่วนการถามถึงสมาชิกหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จำหน่ายนั้น กกต.ไม่ตอบเพราะไม่มีการะบุชัดในข้อเท็จจริง แต่หากจะมีการนำรายได้จากสมาชิกหรือบุคคลอื่นที่ขายสินค้า ให้ถือว่า เป็นรายได้พรรคการเมือง
ข้อ 13-17 พรรคอนาคตใหม่ ถามถึง การหารายได้ ดอกผล จากหลักทรัพย์หรือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกองทุนในตลาดหลักทรัพย์ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือการตั้งสหกรณ์ นั้น
กกต.ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพรรคการเมือง ตามมาตรา 20 และมาตรา 23 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
ส่วนสุดท้าย ข้อ 18-20 และข้อที่ 22-26 นั้น อนาคตใหม่ ถามถึง การจัดเก็บฐานข้อมูลสมาชิกในรูป อิเล็กทรอนิกส์ แล้วยังต้องจัดเก็บเป็นรูปของกระดาษ (Hard Copy) อีกหรือไม่ สามารถให้สมาชิกลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature)ตลอดจนการถ่ายภาพใบสมัครสมาชิก บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง แล้วส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อีเมล์หรือสื่อออนไลน์ อย่างแอพไลน์ ถือเป็นหลักฐานการสมัครสมาชิกใช่หรือไม่
กกต.ตอบว่า ถือเป็นการสอบถามตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การรายงานทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งกกต.ได้มอบหมายให้ นายทะเบียนพรรคการเมืองตอบข้อสอบถามในประเด็นนี้ต่อไป