คุณผู้ชมสงสัยไหม ว่าทำไมบางคนก็ติดสมาร์ตโฟนเสียจนไม่สามารถปล่อยออกจากมือได้เลย ในขณะที่บางคนก็ไม่มีอาการแบบเดียวกันนี้ และแทบจะไม่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอ่านข้อความเลยด้วยซ้ำ ผลการวิจัยล่าสุดให้คำอธิบายที่กระจ่างชัดไว้แล้ว ว่าคนประเภทไหนบ้างที่มีแนวโน้มจะติดโทรศัพท์มือถือมากที่สุด
ผลวิจัยชิ้นใหม่จาก University of Derby และ Nottingham Trent University ซึ่งทำการศึกษาออนไลน์กับผู้ใช้สมาร์ตโฟนทั้งหมด 640 คน ตั้งแต่ช่วงอายุ 13-69 ปี พบว่าบุคลิกลักษณะบางอย่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับนิสัยการใช้สมาร์ตโฟน โดยพบว่าคนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์และมีความยืดหยุ่นน้อยเมื่อเจอกับปัญหา จะมีโอกาสติดโทรศัพท์มากกว่าคนที่มีอารมณ์ที่มั่นคง ซึ่งก็อาจจะเพราะว่าคนกลุ่มแรกใช้สมาร์ตโฟนเข้ามาช่วยบำบัดอารมณ์นั่นเอง
ด็อกเตอร์ ซาเฮียร์ ฮุซเซน จากมหาวิทยาลัย University of Derby อธิบายว่า คนที่พบเจอปัญหาในชีวิตจนทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีปัญหาในครอบครัว ก็จะอยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ไม่คงที่ ซึ่งก็อาจจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นมองหาวิธีบรรเทาทุกข์ด้วยการหันมาพึ่งโทรศัพท์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างน่าวิตก คนที่เป็นโรควิตกกังวลมีแนวโน้มที่จะเสพติดโทรศัพท์มือถือของตัวเองมากกว่า
ผลวิจัยที่ผ่านมาเคยระบุไว้ว่าการใช้สมาร์ตโฟนในปริมาณปานกลางไปถึงมากเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้นจะก่อให้เกิดโรควิตกกังวลได้ เมื่อนำมาประกอบเข้ากับผลวิจัยในครั้งนี้ ก็ทำให้เห็นว่าเมื่อระดับการวิตกกังวลเพิ่มสูงขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ใช้โทรศัพท์มากขึ้นไปเป็นเงาตามตัว
ด็อกเตอร์ฮุสเซนยังบอกอีกว่าตอนนี้เรามีโทรศัพท์ที่ใช้กันทั่วโลกมากถึง 4 พัน 2 ร้อย 3 สิบล้านเครื่องและการใช้สมาร์ตโฟนก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมาก ปัญหาการใช้สมาร์ตโฟนมากเกินไปนั้นเป็นปัญหาที่ร้ายแรงกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ในตอนแรก ซึ่งเมื่อยิ่งศึกษาก็ยิ่งพบความเกี่ยวข้องกับสภาวะทางอารมณ์มากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ คนที่มีสภาวะทางอารมณ์เป็นแบบปิดกั้น ไม่แสดงออกถึงอารมณ์ของตัวเองก็มีแนวโน้มที่จะติดโทรศัพท์มือถือมากเช่นเดียวกัน คนกลุ่มนี้อาจจะใช้เวลาไปกับการ "ส่อง" ข้อมูลต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย อย่างเช่น สถานะ ภาพถ่าย วิดีโอ หรือคอมเมนต์ ของคนอื่นๆ แต่จะไม่เขียนหรือแสดงออกความรู้สึกของตัวเอง ทำให้ไม่มีการมีปฏิสัมพันธ์กับใครเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์