พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน (www.facebook.com/aswinkwanmuang) ถึงกรณีแนวคิดกรุงเทพมหานครเตรียมเข้าบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครแทนมูลนิธิ ว่า
“Ars longa vita brevis” ประโยคดังกล่าวได้รับการแปลอย่างลึกซึ้ง โดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีใจความว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” แสดงถึงความสำคัญของศิลปะ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีพื้นที่สาธารณะปราศจากการแทรกแซงเพื่อสร้างสรรค์งานศิลป์ ไม่ว่าจะใช้เพื่อการแสดงออก เพื่อศึกษาหรือร่วมแบ่งปันงานศิลป์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในจุดสำคัญของประเทศที่ใช้ในการทำกิจกรรมเหล่านี้
จากการที่มีกระแสข่าวในทำนองว่า กทม.จะนำพื้นที่ในหอศิลป์ฯทั้งหมดไปทำอย่างอื่น?หรือ แม้กระทั่งนำไปทำห้างสรรพสินค้า!?รวมไปถึงแคมเปญออกมา คัดค้านการที่กทม.จะเข้ามาบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วยตนเองนั้น
ผมคงต้องตอบว่า กทม. ไม่เคยคิด และไม่มีทางที่จะทำลายสถานที่แสดงศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศเรา เพียงแต่เราต้องการพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนของหอศิลป์ฯ ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ เราต้องการนำพื้นที่เหล่านั้นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ หนึ่งในแนวทางที่อยากจะปรับปรุงก็คือ การนำพื้นที่เหล่านั้นมาปรับเป็นให้เป็นสถานที่ที่ทุกคนได้เข้ามาใช้ สร้างสรรค์งานศิลป์ ทำงาน พบปะ และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือที่เรียกกันว่า co-working space ในส่วนนิทรรศการก็ยังจะต้องใช้เพื่อแสดงงานศิลปะและวัฒนธรรมอย่างเดิม
แต่การที่กทม.จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้น อาจติดด้วยระเบียบและกฎหมายการมอบกิจการให้มูลนิธิ กทม.จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่เหล่านั้น เพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันและดึงดูดให้ประชาชนสนใจงานศิลป์มากขึ้น สำหรับแนวทางการพัฒนานั้นอาจมีการดึงผู้ที่เกี่ยวข้องและมีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญ มาช่วยพัฒนา
ผมเชื่อมั่นว่า ศิลปะเป็นเรื่องของอิสระทางความคิดและจินตนาการ ศิลปะเป็นสิ่งจรรโลงใจหาใช่เพื่อวัตถุประสงค์ใด และ สถานที่แสดงศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแห่งนี้จะต้องยังคงอยู่เพื่อประชาชนทุกคนครับ
สุดท้ายนี้ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพัฒนาในพื้นดังกล่าวครับ
ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า ที่มาของแนวคิดการนำหอศิลป์กลับมาบริหารเองนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบัน เกือบทุกปี กรุงเทพมหานครต้องอุดหนุนงบประมาณปีละ 40 ล้านบาทให้กับทางมูลนิธิจนสภากทม.ไม่เห็นชอบ และการลงนามความร่วมมือเมื่อปี 2554 เพื่อมอบสิทธิให้มูลนิธิเป็นผู้บริหารจัดการเป็นเวลา 10 ปีนั้น กำลังจะสิ้นสุดในปี 2564 จึงทำให้เกิดแนวคิดดังกล่าว