ข่าวดีสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวของประเทศจีนในแง่มุมต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิด “ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์” รวมสารพัดเรื่องจีนไว้ในที่เดียว ที่คนหลงใหลเรื่องจีนไม่ควรพลาด
ประเทศจีน ชาติมหาอำนาจชาติหนึ่งในโลก กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกและด้วยประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่และจำนวนประชากรที่มีจำนวนมาก เรื่องราวของประเทศนี้ จึงยังเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเปิด “ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์” แหล่งเรียนรู้ด้านจีนศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของหลายหน่วยงาน และบุคคลในแวดวงความสัมพันธ์ไทย – จีน อาทิ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ดร.เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและอดีตนักการทูตผู้มีคุณูปการต่อความสัมพันธ์ไทย – จีน สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติฮั่นปั้น (Hanban) รวมถึงอาจารย์ประจำหลักสูตรจีนศึกษาวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เพื่อผลักดันให้เกิดแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับจีนอย่างรอบด้าน ที่สมบูรณ์ที่สุดเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
ภายในศูนย์แห่งนี้ รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับจีนได้หลากหลายหมวดหมู่กว่า 2,000 เล่ม แต่ละเล่มมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือที่ได้รับมาจากโอกาสสำคัญต่างๆ หนังสือที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ หรือแม้กระทั่งหนังสือหายากที่เป็นของสะสมส่วนตัว ครอบคลุมหลายหมวดการเรียนรู้ ทั้งปรัชญา กฎหมาย การเมืองการปกครอง
ห้องสมุดแห่งนี้ยังรวบรวมหนังสือจีนโบราณ หรือหนังสือทำมือ ที่มีคุณค่ามหาศาล เช่นหนังสือที่ใช้ผ้าไหมทำหน้าปกหนังสือ และเข้าเล่มด้วยวิธีร้อยเชือกแบบจีนโบราณ ทั้งยังมีหนังสือโบราณที่อ่านจากขวาไปซ้าย จากหลังไปหน้า
ขณะเดียวกัน ยังมีสื่อการเรียนรู้อื่นๆ เกี่ยวกับจีนที่น่าสนใจ อาทิ แผนที่จีน ภาพวาดพู่กันจีน หมากรุกจีน
ที่นี่จึงเหมาะกับทุกคนที่สนใจเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีน และแม้ยังอ่านภาษาจีนไม่ได้ หนังสือหลายเล่มก็มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยไว้ให้บริการ
นอกจากนี้ ยังมีโซนให้นักศึกษาได้นั่งพักผ่อน อ่านหนังสือ หรือประชุมงานกลุ่มด้วยกัน (Co – working space) เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ที่มากกว่าในห้องเรียน ผู้ที่สนใจ สามารถสำรองคิวการเข้าใช้งานห้องสมุดล่วงหน้าได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่เวบไซต์ของวิทยาลัย
ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์ เปิดบริการวันจันทร์ – ศุกร์ ในเวลาราชการ ที่ชั้น 1 อาคารเอนกประสงค์ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดูรายละเอียดเพิ่มได้ที่ www.pbic.tu.ac.th