นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียจำลองสถานการณ์โลกร้อนและอุณหภูมิน้ำทะเลสูง พบว่าฉลามครึ่งหนึ่งตาย อีกครึ่งหนึ่งมีพฤติกรรมการว่ายน้ำไปในทางเดียว
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมคควอรี ประเทศออสเตรเลีย ศึกษาพบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการว่ายน้ำของฉลาม โดยเมื่อจำลองสถานการณ์ให้อุณหภูมิเท่ากับที่คาดการณ์ในปี 2100 แล้ว ฉลามที่เหลือรอดอยู่จะ 'ถนัดขวา' และจะเลือกว่ายน้ำไปทางขวาเป็นหลัก
การทดลองนี้ทำกับฉลามพอร์ตแจ็กสัน หรือ ฉลามหัววัว ซึ่งเป็นฉลามที่ออกลูกเป็นไข่ โดยนักวิทยาศาสตร์นำไข่มาฟักตัวแบบควบคุมอุณหภูมิ พบว่าครึ่งหนึ่งตายหลังฟักตัวออกมาได้ไม่ถึง 1 เดือน ขณะที่ ตัวที่มีชีวิตต่อไปมีพัฒนาของซีกสมองไม่เท่ากัน และจะเลือกไปทางขวา เมื่อว่ายน้ำมาถึงจุดที่ต้องเลือกเลี้ยวสักทาง
ทั้งนี้ ทีมวิจัยแยกไข่ฉลามออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 12 ฟอง โดยกลุ่มแรกฟักตัวในอุณหภูมิ 20.6 องศาเซลเซียส หรือก็คืออุณหภูมิน้ำทะเลปัจจุบัน และอีกกลุ่มฟักตัวที่ 23.6 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิประมาณการ และผลการทดลองที่ได้ก็ทำให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนส่งผลต่อสมองและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของสัตว์น้ำมากกว่าที่คิด