ไม่พบผลการค้นหา
Talking Thailand - “ประวิตร” ไม่ห่วง 22 พ.ค. “6 ปีรัฐประหาร”...วันที่ทำ “ประเทศเดินถอยหลัง” - Short Clip
May 18, 2020 15:24

รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2563

“ใบตองแห้ง” ถึงกับขำคำตอบ “พล.อ.ประวิตร” ถูกถาม ปมกลุ่มการเมืองอาจเคลื่อนไหว 22 พ.ค. ครบ 6 ปี วันที่ “ประยุทธ์” ทำรัฐประหาร เพราะคนเคลื่อนไหวยังไงก็ผิด เพราะคนใช้กฎหมายและคนตีความ แนะอย่าประชุมแนวทางแก้ขัดแย้ง...มันเลยจุดนั้นมานานมากแล้ว ...ส่วนคณะก้าวหน้าวอน “พรรคการเมือง” อย่าเป็นนั่งร้านสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรายงานกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องในวันครบรอบรัฐประหาร 22 พ.ค. ว่า / ยังไม่ได้รับรายงาน และไม่จำเป็นต้องจับตาอะไรเป็นพิเศษ เราทำทุกอย่างตามปกติ เพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันดูแลมาตลอด และมีขั้นตอนในการรักษาความสงบอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าการออกมาเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบว่า ไม่รู้ว่าเคลื่อนไหวจะเป็นสัญลักษณ์แบบไหน เพราะหากจะเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์แบบไม่ผิดกฎหมายก็สามารถทำได้ ถ้าผิดกฎหมายก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนที่จะทำก็ต้องศึกษากฎหมายว่าทำได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ค.นี้ ตั้งแต่ 09.00 น.-16.30 น.ฝ่ายความมั่นคง เตรียมจัดประชุมหารือเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาความขัดแย้งด้านการเมืองในสังคมไทย

สำหรับวัตถุประสงค์ในการนัดระดมหารือ ระบุไว้ว่า เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับปัจจัยทางการเมืองที่เป็นสาเหตุความขัดแย้ง หรืออาจเป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลและกลุ่มบุคคลหันไปสร้างสถานการณ์ใช้ความรุนแรง และเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงป้องกันและบริหารความขัดแย้งทั้งในภูมิภาคและท้องถิ่น

ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก "คณะก้าวหน้า" โพสต์หัวข้อ "หนังม้วนเดิมที่ตอนจบจะต้องไม่เป็นแบบเดิม” ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 กับการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้นมีลักษณะการสืบทอดอำนาจโดยใช้วิธีการคล้ายคลึงกันอยู่หลายประการ เช่น:

         1.ร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย เอื้อให้มีการสืบทอดอำนาจได้โดยง่าย เช่นการไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง การให้ ส.ว.มาจากการสรรหาจากคณะรัฐประหาร และให้อำนาจ ส.ว. สูงมาก เช่นการให้ ส.ว.มีอำนาจร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้งนั้น ต่างร่างโดยคนเดียวกัน ชื่อ "มีชัย ฤชุพันธ์"

         2.มีการตั้งพรรคการเมืองที่มุ่งสืบทอดอำนาจให้คณะรัฐประหาร มีการใช้อำนาจทั้งทางกฎหมายและอำนาจปืนในการข่มขู่คุกคามกดดันให้ ส.ส. และนักการเมืองย้ายเข้ามาสังกัดพรรคตนเอง เพื่อให้ลงเลือกตั้งและจะได้ ส.ส. เป็นจำนวนมาก แล้วค่อยโหวตนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหารในคณะรัฐประหาร และไม่ได้ลงเลือกตั้ง โดยในการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 มีพรรคสามัคคีธรรม ส่วนในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ก็มีพรรคพลังประชารัฐ

         3.ที่สำคัญที่สุด การรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ก็เพราะมีนักการเมืองและพรรคการเมืองให้ร่วมเป็นนั่งร้านให้เผด็จการเพียงเพราะต้องการได้อำนาจและผลประโยชน์ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

แต่สิ่งที่น่าคิดที่สุด ก็คือหากนักการเมืองและพรรคการเมืองพิจารณาจากสถานการณ์และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนแล้ว ย่อมทราบดีว่าไม่พอใจและเบื่อหน่ายการสืบทอดอำนาจเช่นนี้ นักการเมืองและพรรคการเมืองทุกฝ่าย จะยอมปล่อยให้ประชาชนลงถนนไปขับไล่เผด็จการแล้วต้องบาดเจ็บล้มตายกันอีกครั้งหรือ? จะยอมให้หนังม้วนเดิมเมื่อปี 2535 กลับมาฉายซ้ำอีกครั้งอย่างนั้นหรือ?

ทุกคนทุกฝ่ายยังมีโอกาสร่วมมือกันหยุดสืบทอดอำนาจ เดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน และให้ทุกคนทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันบนกติกาที่ยุติธรรมได้ และหนังเรื่องนี้ตอนจบจะต้องไม่เป็นเหมือนเดิม



Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog