นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสีชีวภาพ หรือสีจากสิ่งมีชีวิต ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเป็น 'สีชมพูสว่าง' หรือ 'Bright pink' ซึ่งการค้นพบนี้จะช่วยอธิบายวิวัฒนาการของสัตว์โลก รวมถึงมนุษย์ ได้สำเร็จ
นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ค้นพบสีชีวภาพที่เก่าแก่ที่สุดในโลกบริเวณทะเลทรายซาฮารา ในแอฟริกา ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าทำไมสิ่งมีชีวิตประเภทที่มีกลไกร่างกายซับซ้อนจึงเพิ่งปรากฏตัวบนโลกในยุคหลัง
โดยรงควัตถุสีชมพูที่พบเกิดจากจุลชีพที่เรียกว่า ไซยาโนแบคทีเรีย หรือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 1,100 ล้านปีมาแล้ว เท่ากับว่าอยู่มาก่อนเม็ดสีอื่น ๆ ที่เคยค้นพบมาราว 500 ล้านปี ซึ่งถือว่าเก่าแก่กว่าสายพันธุ์ของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ ไทแรนโนซอรัส เรกซ์ ถึง 15 เท่า
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์มักตั้งคำถามว่าทำไมสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนจึงเกิดขึ้นในยุค 600 ล้านปีที่ผ่านมาเท่านั้น และไม่เคยมีหลักฐานปรากฏอยู่ในยุคก่อนหน้าเลย ทั้งที่โลกมีอายุราว 4,500 ล้านปี โดยงานวิจัยในอดีตได้พยายามอธิบายว่า ยุคก่อนหน้านั้นมีปริมาณออกซิเจนบนโลกไม่เพียงพอให้สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการต่อไป
แต่การค้นพบครั้งนี้กลับทำให้ได้ข้อสรุปอีกทาง โดยชี้ว่าปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงจากยุคเก่ามายังยุคใหม่ที่สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมากมายนั้น อยู่ที่แหล่งอาหาร ซึ่งในอดีตไซยาโนแบคทีเรียเป็นแหล่งอาหารสำคัญของห่วงโซ่อาหาร หลังจากนั้นสาหร่ายชนิดนี้ได้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว หลีกทางให้สาหร่ายอัลเกสีเขียว ที่มีคลอโรฟิลล์ และเหมาะจะเป็นอาหารมากกว่าขึ้นมาแทนที่ ทำให้สัตว์ใหญ่ รวมถึงมนุษย์ สามารถวิวัฒนาการมาได้หลังจากนั้น