ทวิตเตอร์ฉลองการใช้ 'แฮชแท็ก' ครบ 11 ปี
ทวิตเตอร์ ฉลองวันแฮชแท็ก หรือ แฮชแท็กเดย์ หลังจากใช้งานฟีเจอร์นี้มายาวนานกว่า 11 ปี และทำให้เกิดกระแสในสังคมมามากมาย
ทวิตเตอร์ ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียระดับโลก ได้ฉลอง 'วันแฮชแท็ก' หรือ HashtagDay ไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการนำแฮชแท็กมาใช้บนทวิตเตอร์นานถึง 11 ปี โดยทวิตเตอร์เปิดเผยว่า ไอเดียการใช้งานฟีเจอร์แฮชแท็กนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากบริษัท แต่เกิดจากผู้ใช้งานที่ชื่อ คริส เมสซินา (Chris Messina) ที่ได้ทวีตเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ปี 2007 ว่า อยากให้มีการจัดกลุ่มโพสต์ต่าง ๆ ในธีมเดียวกัน ด้วยการใช้สัญลักษณ์ ชาร์ป (#) ที่เป็นเครื่องหมายสี่เหลี่ยม แล้วตามด้วยคำคีย์เวิร์ดสำคัญ/ ซึ่งไอเดียดังกล่าว ถูกสมาชิกทวิตเตอร์นำไปใช้งานกันอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ และหลังจากนั้น แฮชแท็ก ก็ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายบนบริการโซเชียลมีเดียอื่น ๆ จนถึงทุกวันนี้ และมีแฮชแท็กใหม่ ๆ เกิดขึ้นกว่า 125 ล้านแฮชแท็กในทุกวัน
หลายปีมานี้ แฮชแท็กจำนวนมากถูกใช้งานบนโลกออนไลน์ และหลายแฮชแท็กก็สร้างกระแสจนทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น แฮชแท็ก #IceBucketChallenge ที่คนดังต่างต่างลุกขึ้นมาราดน้ำเย็นใส่หัวตัวเอง เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรค ALS หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง/ หรือ #Metoo ที่กลุ่มผู้หญิงออกมาต่อต้านการถูกคุกคามทางเพศ โดยแบรนด์ดังหลายเจ้ายังนำแฮชแท็กไปใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดอีกด้วย
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางทวิตเตอร์เผยว่า แฮชแท็กที่ดีควรใช้คำที่สั้นกระชับ อ่านและเขียนได้ง่าย เป็นที่จดจำ โดยตามกฎแล้ว ไม่ควรใช้ตัวอักษรใหญ่ในการสะกดแฮชแท็ก และไม่ควรใส่แฮชแท็กเกิน 2 แฮชแท็กต่อ 1 ทวีต
ออสเตรเลียแบน 'หัวเว่ย' และ 'ซีทีอี' ไม่ให้รองรับ 5G
หัวเว่ย (Huawei) ผู้นำด้านอุปกรณ์การสื่อสารยักษ์ใหญ่จากจีน ที่กำลังเริ่มรุกตลาดโทรศัพท์มือถือทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เปิดเผยผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของบริษัทว่า ถูกรัฐบาลออสเตรเลียสั่งแบนไม่ให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาสัญญาณ 5G ภายในประเทศ ซึ่งอีกหนึ่งแบรนด์สมาร์ตโฟนจากจีนอย่าง ซีทีอี (ZTE) ก็โดนแบนเช่นเดียวกัน
โดยสาเหตุของการแบนในครั้งนี้ เนื่องมาจากรัฐบาลของออสเตรเลียกังวลว่ารัฐบาลจีนจะเข้ามาควบคุมกิจการของหัวเว่ย และอาจจะมีการส่งข้อมูลของออสเตรเลียให้กับรัฐบาลจีน นอกจากนั้น ยังเกรงว่าจะกระทบกับความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ และความมั่นคงของชาติในอนาคต ซึ่งหัวเว่ยได้แสดงความผิดหวังกับมาตรการนี้ผ่านทางทวิตเตอร์ว่า หัวเว่ยเองเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G ระดับโลก มีความปลอดภัยสูง และให้บริการเทคโนโลยีไร้สายในออสเตรเลียมายาวนานเกือบ 15ปี ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังสำหรับผู้บริโภคอย่างมาก ถ้าหากจะมีการแบนเช่นนี้เกิดขึ้น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หัวเว่ย และซีทีอี ถูกสั่งแบนจากต่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ก็ออกมาแบนหัวเว่ย เนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบด้านความมั่นคงของประเทศเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม หัวเว่ย ยังคงเป็นบริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟน และอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของโลก และมียอดจำหน่ายสมาร์ตโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลกเช่นเดิม
ฟอร์ดเรียกคืนสายชาร์จรถยนต์ 5 หมื่นคัน
ฟอร์ด ผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติอเมริกา ประกาศเรียกคืนสายชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไฮบริดกว่า 50,000 คัน ที่ได้ทำการส่งมอบให้ลูกค้าไปแล้ว เนื่องจากบริษัทเป็นกังวลว่า สายเคเบิลเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไฟไหม้ได้ โดยสายชาร์จของรถยนต์ฟอร์ดรุ่นที่มีความเสี่ยงได้แก่ ฟอร์ดโฟกัสอิเล็กทริก (Ford Focus Electric), ฟอร์ด ฟิวชัน อีเนอร์จิส (Fusion Energis) และฟอร์ดซีแม็กซ์อีเนอร์จิส (C-Max Energis) ที่ผลิตในโรงงานในรัฐมิชิแกน และโรงงานที่เมืองเอร์โมซีโย ในเม็กซิโก ระหว่างปี 2011 ถึงปี 2015
ฟอร์ดให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากใช้สายชาร์จแบบมาตรฐานของฟอร์ดต่อเข้ากับเต้าเสียบปลั๊กไฟบ้านแบบกระแสสลับ ก็จะไม่มีความเสี่ยงหรือปัญหาใด ๆ แต่ถ้าหากใช้สายชาร์จเก่า หรือสายชาร์จมือสอง อาจจะมีความเสี่ยง ทำให้อุณหภูมิระหว่างการชาร์จสูงขึ้น จนก่อให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดอัคคีภัยได้ในที่สุด ซึ่งเคยเกิดกรณีเช่นนี้มาแล้ว ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะส่งอีเมลไปแจ้งเตือนเจ้าของรถยนต์ที่สายชาร์จมีปัญหา และเสี่ยงจะเกิดไฟลุกไหม้ พร้อมให้ไปรับสายชาร์จ 120 โวลต์เส้นใหม่ ได้จากดีลเลอร์ใกล้บ้าน ซึ่งสายชาร์จเส้นใหม่นี้จะมาพร้อมกับ เธอมิสเตอร์ (Thermistor) อุปกรณ์ตรวจจับอุณหภูมิที่จะช่วยหยุดการชาร์จไฟได้ทันที ในกรณีที่มีความร้อนสูงเกินไประหว่างชาร์จ
Source
YouTube/Twitter
YouTube/Huawei
YouTube/Ford