การที่บริษัทเทคโนโลยีจะหันมาวิจัยด้านการแพทย์หรือสุขภาพไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ และหนึ่งในเป้าหมายหลักของบริษัทวิจัยภายใต้บริษัทแม่ของกูเกิลก็เป็นประเด็นสุขภาพที่มองข้ามไม่ได้ นั่นก็คือ 'การกำจัดยุง'
เวอริลี ไลฟ์ ไซน์เซส (Verily Life Sciences) แผนกวิจัยหนึ่งภายใต้ อัลฟาเบต บริษัทแม่ของกูเกิล ได้พัฒนานวัตกรรมกำจัดยุงมาแล้วระยะหนึ่ง ภายในห้องทดลองในนครซานฟรานซิสโก โดยนักวิทยาศาสตร์ของเวอริลีอธิบายว่า วิธีกำจัดยุงที่บริษัทพัฒนาขึ้นภายใน 'โรงงานยุง' นั้น ก็คือการเพาะพันธุ์ยุงตัวผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย 'วูลบัคเคีย' ซึ่งจะทำให้เมื่อไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียแล้ว ลูกยุงจะไม่เกิดเป็นตัว ทั้งหมดนี้ไม่ใช่วิธีใหม่ที่เพิ่งมีการเปิดเผย แต่ที่น่าสนใจคือทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างอัลฟาเบตจึงหันมาจับโปรเจกต์เกี่ยวกับยุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'ยุงลายบ้าน' ที่พบได้ทั่วไป
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อัลฟาเบตเลือกลงทุนในโปรเจกต์สุขภาพและวิทยาศาสตร์เพื่อการใช้ชีวิตจำนวนมาก ทั้งการวิจัยคอนแทกต์เลนส์อัจฉริยะ เวชศาสตร์ชะลอวัย และการดูแลสุขภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ล่าสุด ทางบริษัทได้ว่าจ้าง เดวิด ไฟน์เบิร์ก ซีอีโอของบริษัทระบบประกันสุขภาพ 'ไกซิงเกอร์ เฮลท์' (Geisinger Health) เพื่อมาดูแลโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพโดยเฉพาะ แสดงให้เห็นว่า อัลฟาเบต ให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อสุขภาพอย่างมาก
แม้ว่าเวอริลีจะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของเทคโนโลยีที่พัฒนามากนัก แต่บทความสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สาเหตุที่อัลฟาเบตใส่ใจกับโปรเจกต์นี้ก็คือ โรคที่เกิดจากยุงเป็นภัยคุกคามต่อประชากรในทุกประเทศ และการวิจัยด้านนี้จนสำเร็จจะนำไปสู่แนวทางการควบคุมจำนวนยุงในราคาย่อมเยา ซึ่งจะกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการกำจัดยุง และลดความเสี่ยงเป็นโรค สำหรับทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนทั่วโลก
สำหรับในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทเวอริลีนั้น ยุงลายบ้านเป็นที่รู้จักกันว่าสร้างความรำคาญและยังกัดเจ็บ แต่มักไม่ค่อยเป็นพาหะนำโรค ทำให้ภัยจากยุงในพื้นที่ไม่อยู่ในระดับที่อันตราย ขณะที่ ภูมิภาคอื่น ๆ ในโลกกลับประสบปัญหาใหญ่จากยุง และโรคที่มียุงเป็นพาหะก็คร่าชีวิตคนนับหมื่นในแต่ละปี ตลอดจนทำให้มีผู้ป่วยจากโรคนานาชนิดอีกนับล้านคน การพิจารณาปล่อยยุงตัวผู้ที่มีเชื้อแบคทีเรียสู่ธรรมชาติจึงกลายเป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาโรคที่เกิดจากยุงได้ดีที่สุด
ก่อนหน้านี้ บริษัทเคยทดสอบปล่อยยุงในรัฐแคลิฟอร์เนียมาแล้ว หลังเปิดตัวเริ่มพัฒนาโปรเจกต์เมื่อ 2 ปีก่อน โดยใช้วิธีขับรถตู้ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในรัฐ ในช่วงที่ยุงชุกชุมระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน และใช้อัลกอริทึมคำนวณจำนวน 'ยุงดี' ในแต่ละพิกัดการปล่อย ซึ่งการนับจำนวนยุงเหล่านี้สามารถทำได้โดยการใช้แสงเลเซอร์นับ ขณะที่ยุงบินออกไป
วิธีการปล่อยยุงดีให้ไปผสมพันธุ์กับยุงทั่วไปของเวอริลีนั้น ถือเป็นวิธีควบคุมประชากรยุงอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือแทรกแซงวงจรการสืบพันธุ์ของยุง แต่ไม่ได้เลือกที่จะตัดแต่งพันธุกรรมของยุงอย่างโครงการที่นายบิล เกตส์ ออกมาประกาศสนับสนุน โดยครั้งนั้นเขาได้ตั้งงบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 33,000 ล้านบาท เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย ซึ่งการตัดแต่งพันธุกรรมยุงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่นี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของยุงต่อระบบนิเวศมากนัก จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าโลกที่ไม่มียุงอยู่จะมีผลกระทบอะไรตามมาหรือไม่ เบื้องต้น นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งออกมาให้ความเห็นว่า ยุงเป็นสัตว์ที่ไม่มีประโยชน์ และจะไม่สร้างผลกระทบอะไร หากถูกกำจัดไป
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ปกติแล้วยุงจะอยู่ในที่ที่อากาศอบอุ่น และรัฐแคลิฟอร์เนียก็ไม่เคยมีการระบาดของประชากรยุงลายบ้านมาก่อน จนกระทั่งปี 2013 ที่มีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดเป็นโปรเจกต์ด้านสุขภาพที่ต้องมีการเร่งพัฒนา ซึ่งก็อาจสรุปได้ว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและความแปรปรวนของสภาพอากาศเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ยุงแพร่พันธุ์ในวงกว้างยิ่งขึ้น และการจัดการกับปัญหานี้ก็ควรที่จะกระทำอย่างเร่งด่วนขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน ทางบริษัทก็ยังต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เนื่องจากเกรงจะมีแรงต่อต้านที่เพาะพันธุ์ยุงมาสู้กับยุง ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนยุงในธรรมชาติ โดยเบื้องต้นต้องให้ผู้คนเข้าใจก่อนว่า ยุงตัวผู้ไม่กัด ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่บริษัทเลือกเพาะแต่ยุงตัวผู้ในโรงงานยุง โดยหุ่นยนต์ในโรงงานจะเลือกยุงจากเพศและขนาดตัว และทั้งหมดจะถูกระบุอัตลักษณ์ทางดิจิทัล ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามด้วยระบบจีพีเอสด้วย
อย่างไรก็ตาม ฤดูกาลที่ยุงชุกชุมกำลังจะหมดลงแล้ว และเวอริลีก็ยังไม่แน่ใจว่าจะขยายโปรเจกต์ในปีหน้าหรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็ไม่เปิดเผยว่าต้นทุนของโปรเจกต์อยู่ที่เท่าไร ทั้งด้านการผลิตและการปล่อยสู่ธรรมชาติ จึงเป็นไปได้ว่ากว่าที่เทคโนโลยีจะพร้อมใช้ในราคาย่อมเยา อาจต้องรออีกหลายปี