Voice TV สัมภาษณ์คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร ถึงข้อเสนอต่อพรรคเพื่อไทย โดยมองว่าพรรคไม่ได้มีปัญหาตัวบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้า ไม่ได้มีปัญหาที่จะชนะการเลือกตั้ง แต่หลายครั้งชนะแล้วอยู่ต่อไม่ได้ ต้องหาทางออก
-คุณหญิงเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง ภายใน ก.พ.62 ตามที่นายกฯ ประกาศหรือไม่
โดยส่วนตัวไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้ง ก.พ.62 ได้จริง เพราะรัฐบาลก็ประกาศเลือกตั้งหลายครั้งตั้งแต่ปี 57 น่าจะไม่ต่ำกว่า 7-8 ครั้ง สำหรับพี่ดูเจตนา เริ่มต้นมายังไง เดินยังไง
พี่คิดว่าน่าจะเป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้นที่จะเข้ามาปฏิวัติและอยู่ยาว ดูจากการเขียนรัฐธรรมนูญที่เขียนให้ครอบงำประเทศอย่างยาวนาน เช่น การกำหนดให้มีแผนปฏิรูปประเทศ มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่จะคุมทิศทางการทำงานของรัฐบาลในอนาคตอีกถึง 20 ปี ทั้งๆ ที่เรายังไม่เห็นแผนปฏิรูปว่าตกลงที่ว่าปฏิรูป 11 ด้าน ตอนนี้เป็นกี่ด้าน เรื่องใดบ้าง อย่างไรบ้าง
ฉะนั้น เห็นความตั้งใจตั้งแต่เบื้องต้นว่ามีความปรารถนาที่จะปกครองหรือมีส่วนควบคุมประเทศอีกค่อนข้างยาว จากนั้น เราก็จะเห็นภาพการเลื่อนกำหนดเลือกตั้ง ซึ่งหัวหน้า คสช. เป็นผู้ประกาศเองแล้วเลื่อนเองหลายๆ ครั้ง
ในห้วงที่ผ่านมา ก็มีปรากฏการณ์ที่เหมือนจะให้มีการขยายเลือกตั้ง เช่น การคว่ำว่าที่กกต. ที่เลือกด้วยกระบวนการที่รัฐบาล คสช.แต่งตั้งทั้งนั้น และการบัญญัติว่า พ.ร.บ.จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน
ทำให้เห็นถึงกระบวนการที่เป็นไปตาม ‘โรดแมป’ คือ ‘โรดแมปอยู่ยาว’ ก็มองว่า น่าจะเป็นความตั้งใจแต่ต้น มีความต้องการจะดูแลประเทศหรือปกครองประเทศในระยะยาว ชัดเจนโดยเฉพาะจากแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี และคณะกรรมการปฏิรูปที่จะเข้ามากำกับควบคุมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
-เงื่อนไขที่จะเกิดการเลือกตั้ง มองว่าต้องมีเกมมวลชนกดดันหรือไม่
พี่ไม่ได้มองอย่างนั้น เพราะการแสดงออกของประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่าย ก็ควรจะมีสิทธิ โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่ได้มีการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยว เป็นสิทธิพลเมืองที่จะแสดงความคิดเห็นและแสดงความอึดอัดคับข้องใจ
พี่มองว่ารัฐบาล ไม่น่าจะมองผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นหรือเห็นต่างเป็นศัตรู ในทางกลับกัน เมื่อนายกฯ ประกาศเป็นนักการเมือง ประกาศพร้อมคืนประชาธิปไตย แล้วก็มีการใช้รัฐธรรมนูญ 2560 รับรองสิทธิพลเมืองแล้ว รัฐบาลต้องเคารพรัฐธรรมนูญโดยการมอบสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่บัญญัติไว้อย่างเต็มที่
รัฐบาลไม่ควรรอจนเกิดการกดดัน แต่รัฐบาลควรจะคำนึงถึงสิทธิและเสียงความต้องการของประชาชน การพูดคุย หรือการฟังมากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลเอง
พี่ไม่ได้มองว่าอยากให้ประเทศเผชิญหน้ากัน แต่คิดว่าสิทธิของผู้แสดงออกกลุ่มต่างๆ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญฉบับที่รัฐบาล หรือ คสช. เป็นผู้ทำให้เกิดการร่างและเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาจากตนเองก็ควรเคารพและสนับสนุนให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อย่างศักดิ์สิทธิ์ แต่ปรากฏว่าหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ กลับยังมีคำสั่ง คสช. ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญในหลายๆ เรื่อง และสิ่งสำคัญคือ สิทธิเสรีภาพพลเมืองที่ได้กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐบาลควรที่จะปฏิบัติตาม สนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แล้วควรใช้การฟังมากกว่าคิดว่าจะเข้าไปจับกุมโดยไม่ฟังเลย การฟังน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการเผชิญหน้าหรือการไม่ฟัง
-มีพรรคการเมืองตั้งใหม่เกิดขึ้นหลายพรรค จะเป็นปัญหาการแข่งขันกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่
ในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง การมีพรรคการเมืองให้เป็นตัวเลือกเยอะๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้พรรคการเมืองมีโอกาสได้แข่งขันกัน พัฒนาตัวเองเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าพรรคนี้ดีพอทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติ ทั้งตัวบุคคล นโยบาย ความมีคุณธรรมในระบอบประชาธิปไตย สมควรที่ประชาชนจะมีทางเลือก
เพียงแต่ว่าการใช้กฎหมายซึ่งมีคำสั่งพิเศษต่างๆ ทำให้เกิดความลักลั่นระหว่างพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่กับพรรคการเมืองเก่า ก็อาจจะเป็นความยากลำบากของพรรคการเมืองเก่า แต่ก็ไม่มีอะไรที่เหนือบ่ากว่าแรงสำหรับพรรคการเมืองที่ตั้งไว้แล้ว เพียงแต่ว่า เมื่อมันไม่เสมอกัน ก็เป็นอะไรที่ผู้มีอำนาจจะถูกติฉินนินทาได้
เราเห็นความพยายามจะทำให้พรรคการเมืองเก่าต่างๆ อ่อนแอ ขณะที่ในระบอบประชาธิปไตย ต้องทำให้พรรคการเมืองต่างๆ มีความแข็งแรงแล้วแข่งกันด้านนโยบาย แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ส่งเสริมให้พรรคการเมืองต่างๆ มีพัฒนาการอย่างแข็งแรงอย่างที่ คสช. อ้างไว้
ในทางตรงข้าม กลับมีการเขียนกฎหมายให้พรรคการเมืองต่างๆ แม้แต่พรรคตั้งใหม่เกิดความอ่อนแอ เมื่อเกิดความอ่อนแอแล้ว ยังไปสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะมากำกับทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะมากำกับนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรคิดค้นแล้วแข่งขันเพื่อประชาชนตัดสินใจ เมื่อใครได้รับเลือกตั้งไปผลักดันให้สำเร็จ ถ้าดีประชาชนก็ส่งเสริมต่อ ถ้าไม่ดี ครั้งหน้าประชาชนก็ลงโทษในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
แต่พอเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกแบบนี้ก็ทำให้กังวลว่า ทำให้พรรคการเมืองไม่มีโอกาสแข่งขันกันในเรื่องนโยบายได้อย่างเต็มที่
เมื่อไม่มีโอกาสแข่งขันกันในเรื่องนโยบาย มันจะกลับไปวงจรอุบาทว์เดิม ซึ่งเราพ้นมาแล้วตั้งแต่ปี 2540 คือวงจรที่เมื่อแข่งนโยบายไม่ได้ ก็ไปแข่งปัจจัยที่จะโน้มน้าวประชาชน
วันนี้พอเขียนทุกอย่างรัดแบบนี้ การแข่งขันทางนโยบายลำบาก เพราะพรรคการเมืองจะนำเสนอนโยบายใด ต้องไปผ่านความเห็นชอบขององค์กรอิสระ และเมื่อไปทำงานต้องอยู่ภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเท่ากับต้องหาเสียงตามพิมพ์เขียวที่เขากำหนดไว้ ไม่ใช่การปกครองที่อยากจะฟังเสียงประชาชน
การเมืองในระบอบประชาธิปไตยข้างหน้า อาจจะไม่สามารถทำได้อย่างแท้จริง ทำได้แค่รูปแบบ
พรรคการเมืองต้องคิดนโยบายด้วยหัวสมอง และต้องทำงานด้วยใจที่มีให้ประชาชน แต่แบบนี้ไม่สามารถออกนอกกรอบแผนปฏิรูปประเทศ ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
-ความสัมพันธ์ระหว่าคุณหญิงกับพรรคเพื่อไทย พร้อมเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่
ในฐานะพลเมืองของประเทศ ตระหนักว่าประเทศไทยเหมือนรถยนต์ที่ติดหล่มมา 10 ปี เพราะแบกก้อนหินหลายก้อน ก็คือทุกฝ่ายที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้ง หินก้อนไหนจะลงก่อน ก็ไม่มีใครลงก่อน
พี่คิดว่าสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา คือทางออกแล้วเราควรจะเริ่มต้นด้วยตัวเราเอง แม้พรรคเพื่อไทยไม่ใช่สาเหตุของปัญหาทั้งหมด แต่เป็น 1 ในปัจจัยเช่นเดียวกับพรรคอื่นๆ รวมทั้งทหารด้วย ฉะนั้น ในมุมของพลเมืองคนหนึ่งของประเทศ อยากให้รถคันนี้เคลื่อนไปได้ ถ้าองค์กรไหนขยับก่อนแล้วองค์กรอื่นไม่ขยับตาม ประชาชนจะเห็นเอง
สำหรับพี่ ถ้าเขาเปิดให้มีการประชุม พี่อยากจะเสนอว่าพรรคเพื่อไทยต้องปฏิรูปตัวเองก่อน เพื่อให้รถคันนี้เบาลงและทำให้รถประเทศไทยขึ้นจากหล่มให้ได้
อะไรที่ทำแล้วจะทำให้คนอื่นไปอ้างว่าเป็นบ่อเกิดของปัญหา เราต้องไม่ทำ ต้องให้มั่นใจว่า ถ้าเลือกพรรคเพื่อไทยแล้ว บ้านเมืองไม่วุ่นวาย บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบสุข นี่คือสิ่งที่เราสามารถทำได้ ถ้าเขาเปิดให้มีการประชุมกัน ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งก็อยากจะไปเสนอแบบนี้
เสนอในฐานะพลเมืองไทยสำหรับองค์กรที่เราคุยได้(พรรคเพื่อไทย) ดังนั้น วันนี้ พี่ไม่เคยเสนอตัวเป็นแคนดิเดตใดๆ ทั้งสิ้น
ตัวเองไม่ได้เสนอตัวเป็นแคนดิเดทหรือเป็นอะไร พี่เองยังไม่ได้คิดว่าจะลงเลือกตั้งหรือเปล่าด้วยซ้ำไป ไม่ได้คิดอยากเป็นอะไรอีก
เพียงแต่ว่าความคิดเห็นโดยส่วนตัว เน้นนะคะว่าเป็นความคิดเห็นโดยส่วนตัว ในฐานะที่เราเป็นคนไทย เราอยากให้องค์กรนี้เป็นผู้เริ่มต้นเข็นรถขึ้นจากหล่ม เพราะเขาเป็นองค์กรที่อยู่ในรถคันนี้ ถ้าคนอื่นไม่เข็นประชาชนจะเห็นเอง แนวทางของพรรคเป็นเรื่องสำคัญ
พรรคเพื่อไทยมักจะถูกมองอย่างที่ผู้มีอำนาจพูดว่าบ้านเมืองยังวุ่นวายอยู่ พรรคมักจะถูกอ้างอิงว่า พรรคกำลังจะทำให้เกิดความวุ่นวาย พี่เสนอว่า เราต้องทำให้สังคม ให้ประชาชนมั่นใจว่า เลือกพรรคเพื่อไทยแล้ว ไม่วุ่นวาย ไม่ขัดแย้ง เริ่มจากตัวเราเอง สันติวิธีมีมากมายที่จะทำ
-หากมีเงื่อนไขที่จำเป็นต้องมาเป็นหัวหน้าพรรค คุณหญิงพร้อมหรือไม่
พี่สนใจแนวทางพรรค แนวทางในการทำงานแต่ละพรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะหัวโค้งหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศแบบนี้ แนวทางแต่ละพรรคการเมืองสำคัญกว่าตัวบุคคลซึ่งเป็นประเด็นรอง พี่มองว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรค
ณ วันนี้ ได้เห็น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ท่านก็เป็นหัวหน้าพรรคที่ดี เสียสละ ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งโดยตลอด พรรคเพื่อไทยไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรคด้วยซ้ำไป นี่ความเห็นส่วนตัวพี่นะ ประเด็นหัวหน้าพรรคไม่ใช่ปัญหาของพรรค
แต่พี่คิดว่าพรรคเพื่อไทย ควรจะเลือกแนวทางในการเดินจากนี้ไป เพราะพรรคเพื่อไทยมีปัญหาน้อยในการเลือกตั้ง แต่มีปัญหามากในการที่ชนะแล้วไม่สามารถทำงานให้ประชาชนได้ จะเลือกแนวทางไหนที่จะทำให้พรรคมีความแข็งแรงพอที่จะไปทำงานให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนได้ พี่มองว่าแนวทางสำคัญกว่าเรื่องตัวบุคคล
แนวทางต้องมาก่อนคณะทำงาน นี่คือสิ่งที่พี่คิดว่า จะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้พรรคเดินทิศทางได้ถูก เมื่อพรรคสามารถผลักดันให้ปัญหาของประเทศลดน้อยลง พรรคเพื่อไทยก็จะรอดด้วย