Trending Now 12 กุมภาพันธ์ 2561
นักวิจัยพัฒนา 'e-skin' ให้หุ่นยนต์รับความรู้สึกเหมือนคน
เจียนเหลียง เสี่ยว (Jianliang Xiao) นักวิจัยและวิศวกรประจำมหาวิทยาลัยโคโลราโดบาวล์เดอร์ (Colorado Boulder) พัฒนาผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-สกิน (e-skin) ที่สามารถเลียนแบบฟังก์ชันการทำงานคล้ายคลึงกับผิวหนังของมนุษย์ได้ โดยอี-สกินนี้สามารถรับรู้แรงกด อุณหภูมิ และแรงสั่นสะเทือนได้ ซึ่งที่จริงแล้วผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2011 แต่อี-สกินในเวอร์ชันนี้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และยังช่วยลดของเสีย รวมถึงต้นทุนการผลิตได้ไม่น้อย
อี-สกิน ผลิตจากโพลิเมอร์ และธาตุเงินที่เล็กระดับอนุภาคนาโน จึงทำให้อี-สกินมีความโค้งคล้ายนิ้วมือและนิ้วเท้า โดย เจียนเหลียง เสี่ยว ผู้พัฒนา บอกว่าอีสกินจะช่วยมนุษย์และหุ่นยนต์มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น โดยเฉพาะหุ่นยนต์ด้านการแพทย์ที่จะเข้ามาช่วยดูแลเด็กและผู้สูงอายุในอนาคต เช่น ในกรณีที่หุ่นยนต์สามารถรับรู้อุณหภูมิผ่านการใช้นิ้วแตะบริเวณผิวหนังมนุษย์ ก็จะสามารถบอกอุณหภูมิของร่างกายของมนุษย์ได้ และการที่หุ่นยนต์มีผิวหนัง จะช่วยไม่ให้หุ่นยนต์สัมผัสมนุษย์แล้วได้รับบาดเจ็บนั่นเอง นอกจากนี้ ยังคาดจะมีการนำอี-สกินมาใช้กับขาเทียมและแขนเทียม ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถรับความรู้สึกจากบริเวณนั้น ๆ ว่าร้อนหรือเย็นเกินไป ซึ่งผลการวิจัยบอกว่า อี-สกินสามารถรักษาตัวเองได้ แต่ในกรณีที่เสียหายจนเกินจะเยียวยา สามารถนำอี-สกินนั้นมาแช่ในสารละลายเพื่อแยกธาตุเงินอนุภาคนาโนและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
Google เตรียมอ้างลิขสิทธิ์ในรูปภาพให้เด่นชัดมากขึ้น
เกตตี ผู้ให้บริการรูปภาพออนไลน์ กลับมาร่วมมือกับกูเกิลให้สามารถใช้ภาพของทางเกตตีได้อย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์อีกครั้ง หลังจากที่เกตตีได้ฟ้องกูเกิลข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์รูปภาพความละเอียดสูงของทางบริษัทเมื่อเดือนเมษายนในปี 2016 และถูกสหภาพยุโรปปรับค่าเสียหายมูลค่ากว่า 2.42 พันล้านยูโร หรือประมาณ 9.4 พันล้านบาท ไปเมื่อเดือนมิถุนายนในปีที่ผ่านมา
การกลับมาร่วมมือกันในครั้งนี้ ทำให้ผู้ใช้งานกูเกิลสามารถใช้งานรูปภาพและบริการของเกตตีได้อย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์ โดยกูเกิลเตรียมปรับเปลี่ยนการค้นหาภาพให้มีการระบุที่มาของภาพชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงการอ้างลิขสิทธิ์ให้โดดเด่นขึ้น และลบการเชื่อมต่อลิงก์ไปยัง URL ของรูปภาพด้วย ดอว์น แอรีย์ ซีอีโอของเกตตีกล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดการพูดกันระหว่างกูเกิล ช่างภาพ และผู้เผยแพร่รูปภาพมากขึ้น และเป็นการเพิ่มการให้เครดิตรูปภาพ และระบุที่มาของรูปภาพมากขึ้นด้วย
ผลทดสอบ Siri ผ่าน Apple Homepod ตอบถูกเพียง 52%
ลูปเวนเจอร์ เว็บไซต์เทคโนโลยีต่างประเทศ รายงานผลการทดสอบ 'แอปเปิลโฮมพอด' หลังเปรียบเทียบกับลำโพงอัจฉริยะเจ้าอื่นในท้องตลาด โดยใช้คำถามจากผู้ร่วมทดสอบกว่า 782 คำถาม และทดสอบคุณภาพเสียงและความสะดวกในการใช้งาน ผลปรากฏว่าโฮมพอดสามารถเข้าใจคำสั่งถึง 99.4 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอบถูกต้องเพียง 52.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ในขณะเดียวกัน Google Assistant ผู้ช่วยคำสั่งเสียงอัจฉริยะใน 'กูเกิลโฮม' สามารถตอบสนองและตอบคำถามได้ถูกต้องถึง 81 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วย Alexa ของแอมะซอนตอบคำถามได้แม่นยำถึง 64 เปอร์เซ็นต์ และคอร์ทานาจากไมโครซอฟต์ทำไปได้ 57 เปอร์เซ็นต์ สำหรับคำถามที่แอปเปิลโฮมพอดไม่สามารถตอบสนองได้ เช่น การนำทาง การอ่านอีเมล์ และการโทรออก ซึ่งเว็บไซต์ลูปเวนเจอร์ระบุว่า เมื่อไม่ถามคำถามเหล่านั้นแล้ว แอปเปิลโฮมพอดสามารถตอบสนองได้ถูกต้องถึง 67 เปอร์เซ็นต์ มีการคาดการณ์ว่าแอปเปิลจะสามารถจำหน่ายโฮมพอดได้ถึง 7 ล้านเครื่องภายในปีนี้ และจะโตขึ้นเป็น 11 ล้านเครื่องในปีหน้า และยังคาดการณ์อีกว่าแอปเปิลโฮมพอดจะได้ส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ในตลาดลำโพงอัจฉริยะของปีนี้อีกด้วย