ผลการศึกษาล่าสุดในยุโรปชี้ว่า การสะกดจิตผู้ป่วยสูงอายุที่เตรียมผ่าตัดเล็กได้ผลดีกว่าการให้ยาชาหรือยาสลบขนานแรง และอาจกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าในการผ่าตัดไขข้อในอนาคต
สำนักข่าว เดอะ เทเลกราฟ เผยแพร่บทความอ้างถึงงานวิจัยทางการแพทย์ล่าสุด โดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลอีราสมุส ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ที่ทดลองใช้เทคโนโลยีภาพเสมือน หรือ วีอาร์ ในการสะกดจิตให้ผู้ป่วยสูงอายุอยู่ในภาวะสงบ ก่อนจะเข้ารับการผ่าตัดเล็ก เช่น การผ่าตัดบริเวณไหล่ มือ หรือเข่า แล้วพบว่าประสบความสำเร็จดี จนอาจนำไปสู่แนวทางการรักษาแบบใหม่ และสามารถลดการใช้ยาชาและยาสลบขนานแรงลงจากมาตรฐานปกติได้สำเร็จ
วิธีที่ว่านี้คือ การเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการสะกดจิตผ่านเทคโนโลยีวีอาร์ หรือ Virtual Reality Hypnosis Distraction (VRHD) ที่ผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับเฮดเซต ซึ่งเมื่อสวมใส่แล้วจะได้รับชมภาพการทัวร์ใต้น้ำ พร้อมกับเสียงบรรยายน่าฟังที่ชี้ชวนให้ดูปลาและสัตว์น้ำโดยรอบ โดยขั้นตอนนี้เข้ามาแทนการฉีดยาเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะสงบ หรือยาสลบ ที่ตามปกติจะฉีดหลังจากผู้ป่วยได้รับยาชาเฉพาะที่แล้ว
การศึกษาดังกล่าวพบว่า การสะกดจิตร่วมกับการใช้ยาชาเฉพาะที่ ทำให้ผู้ป่วยหลับ แต่ไม่อยู่ในภาวะไม่รู้สึกตัวเต็มที่อย่างที่เป็นกับผู้ป่วยที่ได้รับยาชาและยาสลบทั่วไป โดยแพทย์ได้ข้อสรุปว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วยที่ทัวร์วีอาร์ใต้น้ำอยู่ในภาวะสงบดีระหว่างการผ่าตัด และ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมดที่รับชมวีอาร์ 10 นาทีทั้งก่อนและระหว่างผ่าตัด ไม่ต้องฉีดยาสลบเพิ่มเติมแม้แต่น้อย
ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์วีอาร์ที่ใช้สำหรับกระบวนการทางการแพทย์นี้ถูกออกแบบมาให้จังหวะการหายใจของผู้รับชมค่อย ๆ ช้าลง ในขณะที่ผู้รับชมจะสามารถมองได้รอบ 360 องศา ซึ่งกลุ่มตัวอย่างทุกคนตอบสนองกับวีอาร์ได้ค่อนข้างดี จากกลุ่มตัวอย่างไม่ถึง 100 คน
ทั้งหมดนี้ทำให้นักวิจัยคิดว่า การสะกดจิตแบบนี้น่าจะเป็นแนวทางใหม่ที่ดีสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่มีแนวโน้มต้องรักษาโรคเกี่ยวกับข้อต่อ หรือผ่าตัดเล็กบ่อย ๆ ซึ่งการรับยาสลบขนานแรงในปริมาณมากจะไม่ดีต่อสุขภาพ และต้องมีระยะการพักฟื้นที่นานกว่าด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยาสลบแบบฉีดเข้าเส้นยังมีผลข้างเคียงตามมามากมาย ทั้งอาการเซื่องซึมและง่วงนอน ปวดศีรษะ และปากคอแห้งเป็นเวลาหลายชั่วโมง
แพทย์หญิงเดลฟีน ฟาน เฮกเคอ ผู้ร่วมนำการวิจัย ระบุว่าถึงแม้การศึกษาล่าสุดจะไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่าเทคโนโลยีวีอาร์จะช่วยลดความกระวนกระวายหรือความเจ็บปวดของผู้ป่วยลง แต่ยังใช้สรุปได้ว่าเทคโนโลยีนี้เป็นแนวทางเบี่ยงเบนความสนใจที่ดี ที่สามารถหยุดยั้งความรับรู้ ไม่ให้รู้สึกถึงความเจ็บปวด
อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังไม่สามารถระบุได้ว่าวิธีการสะกดจิต VRHD แบบนี้ ใช้ได้กับผู้ป่วยคนใด หรือภายใต้ข้อจำกัดใดบ้าง โดยยังคงต้องทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่กว้างกว่านี้ รวมไปถึงทดลองใช้วิธีนี้กับการรักษาแบบอื่น ๆ แล้วดูว่าวิธีไหนเข้ากับ VRHD ได้บ้าง โดยเฉพาะอ���่างยิ่ง กับวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเด็ก หรือผู้ป่วยกลุ่มที่เปราะบาง รับยาได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เอกสารการดูแลผู้ป่วยของภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่าการผ่าตัดและการระงับความรู้สึกทุกวิธีมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้เสมอ โดยในบางครั้งอาจมีอันตรายถึงชีวิต แม้ว่าจะเลือกใช้วิธีการระงับความรู้สึกที่ดีที่สุดที่ได้มาตรฐานสากลก็ตาม เนื่องจากยาระงับความรู้สึกจะมีผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกายหลายระบบ ประกอบกับการผ่าตัดที่มีผลกระทบต่อร่างกาย จึงอาจมีอาการข้างเคียงตามมา
นอกจากนี้ การพักฟื้นของผู้ป่วยยังขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตก่อนเข้ารับการผ่าตัด ทั้งการรับประทานยา การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ รวมไปถึงโรคประจำตัวต่าง ๆ เพราะฉะนั้น แนวทางการรักษาแบบใหม่ที่เกิดขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยีจึงไม่ใช่เครื่องการันตีว่าการรักษาจะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากขึ้น