ไทยยังคงมีเศรษฐกิจแบบประเทศกำลังพัฒนา แต่กำลังเผชิญปัญหาใหญ่แบบประเทศโลกที่หนึ่งอย่างฟินแลนด์หรือสวิตเซอร์แลนด์ นั่นคือ ภาวะสังคมสูงวัย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า สังคมไทยกำลังประสบปัญหาเหมือนกับประเทศโลกที่หนึ่ง นั่นคือ สังคมสูงวัย หรือ อัตราการเกิดต่ำ คนแก่มักเผชิญความยากลำบากในชีวิตมากอยู่แล้ว แต่ชีวิตจะยิ่งลำบากขึ้น หากแก่และจนด้วย
สหประชาชาติตีพิมพ์รายงานออกมาเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า อัตรการเกิดในไทยตกลงมาอยู่ในระดับเดียวกับสวิตเซอร์แลนด์และฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่รวยมากและแทบไม่มีอะไรเหมือนกับไทย ข้อมูลดังกล่าวหมายความว่า ภายในปี 2030 มากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรไทยจะเป็นคนอายุมากกว่า 60 ปี และส่วนใหญ่เป็นคนจน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟระบุว่า จำนวนคนในตลาดแรงงานที่ลดลงจะเหนี่ยวรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1 ทุกปี ในช่วง 20 ปีข้างหน้านี้
อัตราการเกิดต่ำอย่างผิดปกติและรายได้ของไทย
โดยปกติแล้ว สังคมสูงวัยมักเกิดในประเทศร่ำรวย เมื่อมีรายได้สูงขึ้น อัตราการเกิดมักต่ำลง จะมีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่เป็นข้อยกเว้น เพราะก่อนปี 2015 จีนยังไม่ได้ยกเลิกนโยบายจำกัดจำนวนให้ประชากรมีลูกได้เพียงคนเดียว แต่ไทยจะกลายเป็นประเทศใหญ่ที่แก่ก่อนจะมีโอกาสร่ำรวย
ชัวฮักบิน นักเศรษฐศาสตร์ที่ดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากเมย์แบงก์ กิมเอ็ง รีเสิร์ชในสิงคโปร์กล่าวว่า ไทยติดอยู่ตรงกลางระหว่างการเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ แต่เผชิญปัญหาด้านประชากรแบบที่จะเจอในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดของทุกประเทศลดลง โดยความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่คนย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองกันมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการศึกษาและการคุมกำเนิดได้มากขึ้น การมีลูกน้อยลงเป็นผลดีต่อครอบครัวและสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีผลกระทบกับเศรษฐกิจด้วย จำนวนของผู้บริโภค แรงงาน และผู้เสียภาษีน้อยลง และมีคนที่จะมาดูแลคนแก่น้อยลงด้วย
นับตั้งแต่ปี 2000 ไทยพัฒนาประเทศขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วกว่าประเทศใหญ่อีกหลายประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อัตราการเกิดต่ำลง แต่การผลักดันให้คนไทยมีลูกกันน้อยลงเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1970 โดยนายมีชัย วีระไวทยะ ก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย จนได้รับฉายาว่า ราชาแห่งถุงยางอนามัย ในช่วง 2 ทศวรรษนี้ อัตราการเกิดในไทยลดจาก 6.6 ลงมาเหลือ 2.2 เท่านั้น
ปัจจุบัน อัตราการเกิดของไทยอยู่ที่ 1.5 อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก ต่ำกว่าจีนที่อัตราการเกิดอยู่ที่ 1.7 และต่ำกว่าอัตราการเกิดที่ควรเป็นที่ 2.1 เพื่อให้จำนวนประชากรคงที่ ซึ่งยูเอ็นประเมินว่า ก่อนปี 2100 อัตราการเกิดที่ต่ำจะทำให้ประชากรไทยหายไป ประมาณ 1 ใน 3 จากจำนวนประชากรปัจจุบันประมาณ 70 ล้านคน
ศรีพัด ตุลจะปุระคาร์ นักประชากรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวว่า ไทยมีเวลาไม่มากในการแก้ไขปัญหานี้ ไทยจะต้องหาทางกระตุ้นประสิทธิภาพแรงงาน ไม่เช่นนั้นจำนวนแรงงานที่น้อยลงจะไม่สามารถแบกรับภาระดูแลคนเกษียณอายุที่จะพุ่งสูงขึ้นในช่วง 2030
ปัญหาสำคัญของไทยก็คือการเมือง นับตั้งแต่ปี 2006 ไทยมีการรัฐประหาร 2 ครั้ง แผนในการแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัยไม่ได้ถูกนำมากใช้ และรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลผสม 19 พรรคก็ดูจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่อาจวางใจได้ข้อหนึ่งว่า การที่ไทยเปิดรับแรงงานข้ามชาติมากกว่าเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น ก็อาจทำให้มีคนพร้อมจะเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น โดยปัจจุบัน ตลาดแรงงานในไทยมีชาวต่างชาติอยู่ถึงร้อยละ 10 และบริษัทใหญ่ๆ ก็มีพนักงานที่ไม่ใช่คนไทยสูงกว่าร้อยละ 10 ด้วย เช่น บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นที่มีแรงงานข้ามชาติกว่าร้อยละ 30 ของพนักงานทั้งหมด
เด็กเกิดน้อย คนวัยทำงานน้อย คนแก่มาก
ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยก็ถือว่าโตช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยลดลงเรื่อยๆ จากร้อยละ 5.3-4.3 ในช่วงปี 1990 ลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.5 โดยไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจเติบโตเพียงร้อยละ 2.8 เติบโตช้าที่สุดในรอบ 4 ปี อัตราเงินเฟ้อก็ต่ำกว่าร้อยละ 1 อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 2 ขณะที่ค่าเงินบาทก็แข็งอย่างรวดเร็ว ซึ่งลักษณะเศรษฐกิจบางส่วนของไทยเริ่มคล้ายกับญี่ปุ่นที่เผชิญภาวะสังคมสูงวัยมากกว่าจะเหมือนประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์
ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลก็ถือเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 78,816 ดอลลาร์ (ราว 2,400,000 บาท) ต่อหัวต่อปีอย่างสวิตเซอร์ หรือ 48,580 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,500,000 บาท) ต่อหัวต่อปีอย่างฟินแลนด์ และยิ่งยากขึ้นไปอีกสำหรับประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยเพียง 6,362 ดอลลาร์ (196,000 บาท) ต่อหัวต่อปี และจากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ก็ระบุว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับระบบสาธารณสุขไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12 ต่อปีในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นประเทศที่มีรายจ่ายด้านสาธารณสุขมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว
อย่างไรก็ตาม บริษัท อลิอันซ์ เอสอี บริษัทประกันระดับโลกระบุว่า ในบรรดา 54 ประเทศที่มีการเก็บข้อมูล ไทยมีแผนบำนาญอยู่อันดับสุดท้ายในด้านความยั่งยืน โดยดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงของ TDRI และหนึ่งในคณะกรรมการธนาคารกลางแห่งประเทศไทยกล่าวว่า กองทุนจะเหือดหายไปภายใน 15 ปี หากไม่มีการปฏิรูประบบการเก็บภาษีอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่านี้