ไม่พบผลการค้นหา
ครม. ไฟเขียวร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เรื่องเกณฑ์อายุเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญาจากเดิมไม่เกิน 10 ปี แก้เป็นไม่เกิน 12 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับกติกาสากล พร้อมเหตุผลทางการแพทย์ที่เห็นว่าเด็กอายุ 12 ปี ไม่มีความแตกต่างจากเด็กอายุ 10 ปี

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เรื่องเพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยมีสาระสำคัญคือการแก้ไขเกณฑ์อายุของเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา จากที่ปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี และเกณฑ์อายุของเด็กที่ใช้มาตรการอื่นแทนการรับโทษทางอาญาจากเดิมกำหนดไว้เกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี เป็นเกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี 

โดยการกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กดังกล่าวสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเป็นไปตามแผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (ปี 2559-2563) 

อีกทั้งสอดคล้องกับเหตุผลทางการแพทย์ ที่เห็นว่าเด็กอายุ 12 ปี ไม่มีความแตกต่างจากเด็กอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กมีความอ่อนด้อยทางความนึกคิด ยังไม่รู้ถูกผิดชอบชั่วดี รวมทั้งเป็นช่วงอายุใกล้เคียงกับกลุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิด ซึ่งไม่สมควรที่จะให้เข้าสู่กระบวนการการดำเนินคดี แต่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการการคุ้มครองสวัสดิภาพ เพื่อเด็กจะได้ฟื้นฟูกลับไปสู่สังคมได้ และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเรียนรู้การกระทำผิด จนนำไปสู่การกระทำผิดซ้ำ

ทั้งนี้ การกำหนดอายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญาของเด็กเป็น 12 ปี จะทำให้จำนวนของเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีจำนวนลดลง ทำให้การใช้งบประมาณในการบริหารจัดการ การจับกุม การคุมขัง ลดลงด้วย โดยจะมีการใช้มาตรการอื่นๆ มาทดแทน เช่น การควบคุม การดูแล การส่งเสริมฝึกอาชีพ เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสในการเติบโตเป็นคนดีสู่สังคม จะส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยทุนมนุษย์ของประเทศมีเพิ่มมากขึ้น

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 

1. กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ  

2. กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังนี้  

2.1 ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป  

2.2 ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้ มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด  

2.3 ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม 2.2 ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นด้วยก็ได้  

2.4 ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน 2.2 ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม  

2.5 ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี