ไม่พบผลการค้นหา
ภาคเอกชนแนะรัฐเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มเห็นต่าง ชี้เรื่องใดที่สามารถแก้ไขได้ก็ขอให้รับฟัง ยังห่วงสถานการณ์การจ้างงาน จากเศรษฐกิจที่อ่อนแอเพราะผลกระทบโควิด-19

สุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. 2563 แม้จะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่โดยรวมเศรษฐกิจไทยก็ยังอ่อนแอ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว รวมทั้งการลงทุน โดยเฉพาะสถานการณ์การจ้างงานยังมีความน่าเป็นห่วง โดยข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 2/2563 มีผู้ว่างงานแล้ว 7 แสนคน และแรงงานนอกระบบอีกกว่า 2.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคนเมื่อเทียบสิ้นปี 2562 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย ปีนี้ ติดลบ 9-7% ส่วนส่งออกติดลบ 12-10% โดยจะมีการประเมินเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหลังสิ้นสุดไตรมาสที่ 3/2563

ประเด็นที่ยังคงต้องจับตามอง คือ การชุมนุมใหญ่ของแกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอกในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ซึ่ง กกร. อยากให้รัฐบาลเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มที่เห็นต่าง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในภาพใหญ่ หากมีเรื่องใดที่สามารถแก้ไขได้ก็อยากให้รัฐบาลรับฟัง แม้ขณะนี้จะยังไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน แต่หากอนาคตสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น และสามารถเปิดประเทศได้ ก็ไม่อยากให้ไทยเสียโอกาส

ทั้งนี้ กกร. ได้ให้เสนอให้รัฐบาลออกมาตรฐานการเบิกจ่ายเงินให้กับเอกชนที่ส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว โดยเร็วที่สุด หรือ ไม่ควรเกิน 30 วัน จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 2-4 เดือน เนื่องจากขณะนี้ เอกชนกำลังได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของการเบิกจ่ายเงินโครงการของรัฐ และ รัฐวิสาหกิจที่ส่งมอบแล้ว รวมทั้งต้องการให้รัฐปรับเงื่อนไขให้เอกชน โอนสิทธิ์การเบิกจ่าย ให้นำเอกสารการส่งมอบโครงการ ไปยื่นเบิกเงินจากธนาคารก่อนได้ ซึ่งเอกชนพร้อมที่จะจ่ายค่าธรรมเนียม เพื่อช่วยทำให้เอกชนได้รับเงินและนำไปหมุนทำธุรกิจต่อเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. เตรียมหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ขอให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม โดยปรับจาก 30% เป็น 50% ซึ่งเชื่อว่าธนาคารจะปล่อยเสินเชื่อ ตามวงเงินกู้ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท มากขึ้น