ไม่พบผลการค้นหา
ทุกครั้งที่เราภูมิใจที่ซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง ส่วนต่างตรงนั้นอาจต้องแลกมาด้วยความปลอดภัยในชีวิตของใครบางคน

ในวันที่จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก การรุกล้ำของกลุ่มธุรกิจจีนกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในชาติยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา กลายเป็นประเด็นที่นำมาตีแผ่ใน American Factory สารคดีของ Netflix ที่เพิ่งคว้ารางวัล Best Documentary Feature บนเวทีออสการ์มาหมาดๆ

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีผู้สนับสนุนคนดังที่เป็นถึงอดีตประธานาธิบดีและอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง บารัค และ มิเชล โอบามา โดยทั้งสองตั้งบริษัทผลิตสื่อในชื่อ Higher Ground Productions เพื่อผลิตสารคดีป้อนให้กับ Netflix โดยเฉพาะ เรียกว่าจับงานสารคดีชิ้นแรกก็คว้าออสการ์กันเลยทีเดียว

American Factory เป็นเหมือนผลงานภาคต่อของ Steven Bognar และ Julia Reichert สองคู่หูที่เคยชิงออสการ์มาแล้วจากสารคดีขนาดสั้นปี 2009 เรื่อง The Last Truck: Closing of a GM Plant เนื้อหาเล่าถึงการปิดตัวของโรงงานผลิตรถยนต์ในเมืองมอร์รีน รัฐโอไฮโอ ส่งผลให้ชาวเมืองนับพันต้องตกงาน โดยเรื่องราวของ American Factory เป็นการตามไปดูชีวิตของคนงานเมืองมอร์รีนในอีก 7 ปีต่อมา เมื่อพวกเขาได้รับข่าวดีจากข่าวการเปิดโรงงานใหม่ของ Fuyao บริษัทผลิตกระจกรถยนต์ระดับโลกจากเมืองจีน

007.jpg

การได้กลับไปทำงานยังโรงงานที่เคยให้พวกเขามีกินมีใช้ กลับไม่สวยงามอย่างที่หวัง เมื่อพวกเขาต้องพบว่า การทำงานภายใต้การบริหารจัดการของคนต่างชาติ มีสิ่งที่พวกเขาต้องปรับตัวมากมาย ทั้งการทำงานให้เข้าขากับเพื่อนคนจีน และการทำงานโดยปราศจากการดูแลโดยสหภาพแรงงานของสหรัฐ เนื่องจากเจ้าสัวใหญ่ยืนกรานว่า ถ้าสหภาพแรงงานเข้ามาก้าวก่าย เตรียมปิดโรงงานได้เลย!

และเหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาต้องรับค่าจ้างตามเรตของบริษัทจีน ที่ค่าแรงต่อชั่วโมงน้อยกว่าเดิมเกือบเท่าตัว

ความน่าสนใจของ American Factory คือวิธีการที่ผู้สร้างค่อยๆ กระตุ้นระดับความ "อิหยังวะ" แก่ผู้ชมเป็นลำดับขั้น เริ่มจากสภาพภายในโรงงาน Fuyao ในสหรัฐ เมื่อฝ่ายบริหารจัดการทุกสิ่งอย่างตามอำเภอใจ นำไปสู่การยึดพื้นที่บางส่วนในโรงอาหารของคนงาน มาใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำงาน จนถึงการปล่อยน้ำเสียไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเสี่ยงต่อการปนเปื้อนแหล่งน้ำของชุมชน

008.jpg

เรื่องยิ่งพีคขึ้นไปอีก เมื่อมีการนำพนักงานระดับหัวหน้างานชาวอเมริกัน ไปดูงานยังโรงงานหลักของ Fuyao ในเมืองจีน ที่นั่นพวกเขาได้รู้ว่าตัวเองโชคดีแค่ไหน ที่ไม่ต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง, ได้วันหยุดแค่เดือนละ 2 วัน, มีสิทธิ์ไปเยี่ยมครอบครัวที่ต่างจังหวัดแค่ปีละหน และต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ความปลอดภัยในชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญมากกว่าผลประกอบการ

สุดกว่านั้นคือนโยบายด้านสวัสดิการของ Fuyao ในเมืองจีน เมื่อประธานของสหภาพคนงานของ Fuyao คือน้องเขยของท่านประธานบริษัทนั่นเอง!

การชม American Factory ทำให้นึกถึงสารคดีปี 2005 เรื่อง Wal-Mart: The High Cost of Low Price เล่าถึงผลกระทบเชิงสังคม ที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มาเปิดกิจการในเมืองขนาดเล็ก กลยุทธ์กดราคาสินค้าให้ต่ำที่สุด นอกจากจะทำให้ร้านค้าในชุมชนต้องปิดตัวลงแล้ว การควบคุมต้นทุนด้วยการลดค่าจ้างและสวัสดิการของคนงาน ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่ ที่เห็นความสำคัญของผลตอบแทนต่อหน่วยเหนือกว่าชีวิตของคน

สารคดีทั้ง 2 เรื่อง กำลังบอกให้เราระลึกว่า "ทุกครั้งที่เราภูมิใจที่ซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง ส่วนต่างตรงนั้นอาจต้องแลกมาด้วยความปลอดภัยในชีวิตของใครบางคน"

American Factory ยังทำให้นึกถึง The Act of Killing สุดยอดสารคดีของ Joshua Oppenheimer ที่ผู้สร้าง "หลอก" ให้อดีตฆาตกรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จำลองการสังหารหมู่ให้ดูแบบสดๆ

แม้ประเด็นใน American Factory จะไม่หลุดโลกเท่า The Act of Killing แต่สิ่งที่ผมและเชื่อว่าผู้ชมอีกหลายคนน่าจะรู้สึกเหมือนกันก็คือ "Fuyao ยอมให้นักสร้างหนังตัวเล็กๆ สองคน มาทำสารคดีป้ายสีบริษัทที่มีมูลค่านับพันล้านดอลลาร์เพื่ออะไร?"

019.jpg

เดิมทีฝ่ายบริหารของ Fuyao กังวลว่าการเผยแพร่ของ American Factory จะทำให้บริษัทมีภาพลักษณ์ติดลบ แต่หลังจากชมสารคดีจบไป 3 รอบ Cao Dewang เจ้าสัวผู้ก่อตั้ง Fuyao ก็คิดว่าทีมบริหารคิดมากเกินไป แถมยังแสดงความยินดีต่อการคว้าออสการ์ของ American Factory อีกด้วย โดยเขาชื่นชมการทำงานของผู้สร้าง ทั้งความอุตสาหะ, ความเป็นมืออาชีพ และขอบคุณที่วิจารณ์การทำงานของเขาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเขาจะนำสิ่งเหล่านั้นไปปรับปรุง เพื่อให้บริษัทของเขามีความโปร่งใส เหมือนกับกระจกที่โรงงานของเขาจำหน่ายไปทั่วโลก

...เรียกว่าท่านประธานอยู่เป็นจริงๆ

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าโฉมหน้าของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในอนาคตจะเปลี่ยนไปเช่นไร สิ่งที่ผู้ใช้แรงงานทุกคนต้องเจอแบบเลี่ยงไม่ได้แน่ๆ ก็คือการมาถึงของคู่แข่งที่ ไม่สนค่าแรง, ไม่ง้อสวัสดิการ, ไม่มีสหภาพ และไม่ต้องการวันหยุด หรือแรงงานหุ่นยนต์นั่นเอง โดยคาดว่าในปี 2030 ตำแหน่งงานถึง 20 ล้านตำแหน่ง จะปฏิบัติการโดยหุ่นยนต์ทั้งหมด

ระยะเวลา 10 ปีที่เหลือนี้ จึงเปรียบเสมือนช่วงเวลาแห่งเตรียมตัวครั้งสุดท้าย สำหรับผู้ใช้แรงงานทั่วโลกที่มีกว่า 3 พันล้านคน และคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวสู่ตลาดแรงงานในอนาคต ที่ต้องพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อไปให้ถึงระดับที่แรงงานหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ไม่ได้

หาไม่เช่นนั้นแล้ว ไม่แน่ว่า ถ้าวันนั้น American Factory มีภาคต่อในอีก 10 ปีข้างหน้า คงไม่ต้องเดาเลยว่า เนื้อหาของสารคดีจะตีแผ่ปัญหาอะไร...

AdizxA
0Article
0Video
5Blog