ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค จี้รัฐออกมาตรการทางการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามก.ม.แพ่งและพาณิชย์ฯ

นายมานะ โลหะวณิชย์ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค นำกรรมาธิการ ซึ่งมีความห่วงใยประชาชนและผู้บริโภคในภาวะวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ของประเทศไทยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้พิจารณาติดตาม และให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน และลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องที่สำคัญ 3 เรื่อง ประกอบด้วย

(1) พิจารณาศึกษาปัญหาและมาตรการแก้ไขความเดือดร้อนของผู้บริโภคกรณีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนขาดรายได้ แต่สินค้าด้านอุปโภคบริโภคขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้น

(2) พิจารณาศึกษาแนวทางการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกรณีราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้บริโภคต้องซื้อน้ำมันสำเร็จรูปในราคาแพงและมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น

(3) พิจารณาศึกษาแนวทางและมาตรการทางการเงินในการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะการพิจารณาศึกษาแนวทางและมาตรการทางการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและคุ้มครองผู้บริโภคนั้น 

เบื้องต้นคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรต้องขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทยโดยเฉพาะนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ที่ได้เสียสละเวลาเข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และรับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการการคุ้มครองการคุ้มครองผู้บริโภคในการออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือคุ้มครอง ผู้บริโภคโดยการปรับลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากเดิมสูงสุดร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 16 และดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิมสูงสุดร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 25 โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 ส.ค. 2563

ธปท

แต่จากการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาของการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร พบว่า ด้วยอัตราเพดานดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน แม้ปรับลดลงร้อยละ 2-3 นั้น ยังถือว่ามีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ไม่เหมาะสม เอาเปรียบผู้บริโภค และยังสูงกว่าที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักและมีสภาพบังคับเป็นการทั่วไป มาตรา 654 กำหนดไว้ว่า "ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ย เกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี" และยังสูงกว่ากฎหมายยกเว้นห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นการเฉพาะ และกำหนดให้การเรียกดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นความผิดและมีโทษทางอาญา

จากสภาพปัญหา และข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค คณะกรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการหดตัวทางเศรษฐกิจ จากวิกฤติการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดเชื้อโควิด-19 ประชาชนมีรายได้ลดลง สินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้น อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.50 และต้นทุนผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลรวมสำรองหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และจะไม่เกินร้อยละ 5 หรือสูงสุดไม่เกินร้อยละ 10

แต่สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินกลับเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยบัตรเครติตสูงถึงร้อยละ 18 และสินเชื่อส่วนบุคคลสูงถึงร้อยละ 28 จึงเป็นการเอาเปรียบ ไม่เหมาะสม และไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค สูงกว่าประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์และกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรากำหนดไว้

คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและคุ้มครองผู้บริโภคโดยให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล "ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี" ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาของประชาชนผู้บริโภคอย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :