ไม่พบผลการค้นหา
เป็นไปตามตามคาดการณ์ทุกอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปักธงวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 โดยขยับจาก 24 ก.พ.2562 ที่เป็นธงแรกของรัฐบาล คสช.

ทั้งนี้ ‘วิษณุ เครืองาม’รองนายกฯ เคยออกมาระบุว่า 24มี.ค.นั้น ‘เหมาะสม’ที่สุด หลังได้นำปฏิทินกิจกรรมทางการเมืองหลังวันเลือกตั้งมาเทียบช่วงเวลากำหนดการทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

การเคาะวันของ กกต. จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย แต่ก็สยบข่าวลือต่างๆไปทั้งหมด อีกทั้งทำให้ ‘หมุดหมาย’ ของประเทศมีความชัดเจนขึ้น

แน่นอนว่าทุกสายตา ‘โฟกัส’ ไปที่ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. จะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร หลังเคยประกาศชัด “ผมสนใจงานการเมือง” เอาไว้

ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ มีเพียงหลักเกณฑ์พรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยระบุก่อนหน้านี้ใช้ในการประกอบการตัดสินใจไปร่วมงาน แต่ก็แทงกั๊กไว้ว่าตนอาจไม่ไปเข้าร่วมก็ได้ พร้อมระบุว่ายังไม่มีพรรคใดทาบทามตนไปเป็น ‘แคนดิเดตนายกฯ’ ด้วย

หนีไม่พ้น ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่ปลุกปั้นกันมานาน ซึ่ง 4 รัฐมนตรีก็อยู่ระหว่างการหารือและเตรียมจะลาออกพร้อมกันเร็วๆนี้ เพื่อไปลงสนามการเมืองได้มากขึ้น

นับจากนี้ไป 2 เดือนเต็มๆ เป็นเวลาที่แต่ละพรรคจะต้องหาเสียงกันเข้มข้น การทำโพลเก้าอี้เพื่อปลุกใจฐานเสียงและข่มคู่แข็งยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง แม้พรรคพลังประชารัฐจะเป็น ‘พรรคเฟรชชี่’ แต่ก็มีขนาดที่ไม่แพ้ ‘พรรคซีเนียร์’ เลยทีเดียว

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนในอดีตที่ ‘คะแนนเททิ้งน้ำ’ ถูกนำมานับจัดสรรเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นปรากฏการณ์พรรคที่ไม่ได้‘ส.ส.เขต’เลย แต่จะมีที่นั่งในสภาผ่าน ‘ส.ส.บัญชีรายชื่อ’ ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ออกแบบมาให้เป็นระบบหลายพรรค

ดังนั้นโอกาสที่จะมีพรรคใดจะ ‘แลนด์สไลด์’ จึงต้องทำงานหนักกว่าเดิม

พลังประชารัฐ.JPG

อีกทั้งบริบทเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยนไปมี ‘พรรคเฟรชชี่’ หลายขนาดเกิดขึ้น ทั้ง 2 ฝากฝั่งทางการเมืองระหว่างขั้วที่หนุนและต้านระบอบ คสช. ซึ่งฝั่งต้าน คสช. มาพร้อมการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ

และฟากฝั่งพรรคหนุน คสช. ที่เกิดขึ้นมาหลายพรรค โดยมีแม่ทัพอย่าง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ดังนั้นปรากฏการณ์สำคัญทางการเมืองครั้งนี้จึงอยู่ที่ ‘พรรคตัวแปร’ 2 พรรคใหญ่ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคภูมิใจไทย ที่เป็นจุดชี้ขาดการ ‘จัดตั้งรัฐบาล’ ในอนาคต

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้กับ ‘ระบอบ คสช.’ ที่มี ‘สงครามตัวแทน’ ระหว่าง พรรคเพื่อไทย กับ พรรคพลังประชารัฐ นั่นเอง

สุดารัตน์-ตรีรัตน์ ชัชชาติ พรรคเพื่อไทย หาเสียง

แน่นอนว่าโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะมาจับมือกับพรรคเพื่อไทยเป็นเรื่องยาก ดังนั้น พรรคภูมิใจไทยที่นำโดย ‘เสี่ยหนู’อนุทิน ชาญวีรกูล ในเวลานี้จึง ‘เนื้อหอม’ ไม่น้อย

แต่อย่าลืมตัวแปร 2 พรรคที่พร้อมอยู่ข้างผู้ชนะ เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา ที่นำโดย ‘หนูนา’กัญจนา ศิลปอาชา และ พรรคชาติพัฒนา ที่นำโดย ‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ’ ที่ชูนโยบาย No Problem ไม่เป็นปัญหากับใคร

ระยะเวลา 2 เดือนนับจากนี้จึงเป็นศึกส่งท้าย‘คสช.ลงหลังเสือ’ แน่นอนว่า ‘อุบัติเหตุทางการเมือง’ สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องมี ‘แผนสำรอง’ ไว้ก่อน ในสภาวะที่หากสุดท้ายแล้วพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถไปสู่ฝั่งฝันได้

ซึ่งแผนที่ทราบกันดีคือการเปิดให้มี ‘นายกฯ คนนอก’ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ได้เปิดช่องไว้ โดยอาศัยเสียง ส.ส. และ ส.ว. โหวตให้มีการเลือก ‘นายกฯคนนอก’ ขึ้น

แม้ในเวลานี้ ‘พลังประชารัฐ’ จะยังไม่เปิดชื่อ ‘แคนดิเดตนายกฯ’

แต่ก็มีอีกชื่อที่ผุดขึ้นมา นั่นคือ ‘เฮียกวง’สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่พรรคพลังประชารัฐเคยกล่าวไว้ว่าเป็น ‘ที่พึ่งทางใจ’ อีกทั้ง 4 รัฐมนตรีก็ต่างเป็น ‘ลูกศิษย์’ หรือ ‘เป็นมือซ้ายมือขวา’ ของ ‘สมคิด’ ทั้งสิ้น

ซึ่ง ‘อุตตม’ ยอมรับว่ามีการพูดถึงชื่อ ‘สมคิด’ ขึ้นมาในช่วงการหาเสียง ซึ่งพรรคก็ยังไม่ได้ไปทาบทามใคร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขบวนการของพรรคที่ต้องผ่านกรรมการบริหารพรรคก่อน

จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญในการขายของ ‘แพ็คคู่’ ครั้งนี้ เปรียบได้ว่าเลือก ‘สมคิด’ ก็จะได้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปด้วย หรือเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะได้ ‘สมคิด’ ไปด้วย

ประยุทธ์ สมคิด สนธิรัตน์ ประชารัฐ 0180613102916.jpg

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่ชูชื่อ ‘หญิงหน่อย’คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ปธ.ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และ ‘อ.ทริป’ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยขึ้นมาด้วย

อย่างไรก็ตามเป็นที่พูดกันว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ ‘สมคิด’ ก็ต่างถ่วงดุลอำนาจกันคุม ‘ครม.ประยุทธ์’ เพราะขุนพลด้านเศรษฐกิจก็ล้วนเป็น ‘ศิษย์สมคิด’

แต่จุดประสานสัมพันธ์ก็อยู่ที่ ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช. ที่มีความสนิทและใกล้ชิด ‘สมคิด’ ไม่น้อย

อีกทั้งมีคอนเนคชั่นในวงการต่างๆที่ไม่แพ้ ‘สมคิด’ ด้วย แม้ที่ผ่านมา ‘บิ๊กป้อม’ เคยดัน ‘หม่อมอุ๋ย’ร.ม.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองประธานกรรมการมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดฯ เพื่อนเซนต์คาเบียล มานั่งรองนายกฯก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ‘แผนสำรอง’ ย่อมไม่ได้มีเพียง ‘แผนเดียว’ ตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เปิดช่องนายกฯคนนอก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการพูดว่า รัฐบาลหน้าจะอายุสั้น

อีกทั้งข้อเสนอการมี ‘รัฐบาลแห่งชาติ – นายกฯทันใจ’ ที่จะนำมาสู่การ ‘เซ็ตซีโร่การเมืองใหม่’

แต่ปัจจัยที่จะใช้ ‘แผนสำรอง’ ใดนั้น หรือไม่ต้องใช้แผนใดๆเลย ก็อยู่ที่คะแนนเสียงของ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ จะได้เท่าใดนั่นเอง ที่จะสามารถ ‘ปิดจ็อบ-ก็อกแรก’ ได้หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งสถานการณ์หลังเลือกตั้งด้วย

แต่ไม่ว่าจะมีกี่ ‘แผนสำรอง’ ก็ไม่เท่า ‘แผนเผชิญเหตุสุดท้าย’

นั่นคือ ‘ปฏิวัติ – รัฐประหาร’ ที่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะขึ้นอีกหรือไม่ ในยุคที่ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ที่เคยออกมาเตือน ‘อย่าล้ำเส้น’ ก่อนหน้านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog