ไม่พบผลการค้นหา
รองประธาน Ari ชี้ ยิ่งวงการฟุตบอลเติบโต ค้าปลีกเกี่ยวข้องจะโตตามด้วย ย้ำ ฟุตบอลไม่มีเพศ ชายสนใจได้ หญิงก็เช่นกัน ขณะ ปชช.ทั่วไป มองประเด็นดรามาเป็นเรื่องของเสรีภาพ

ใต้เสียงวิจารณ์ เรื่องความเหมาะสมในการสวมใส่เสื้อฟุตบอลไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่สนามฟุตบอล ยังแอบซ่อนมิติน่าสนใจมูลค่ามหาศาลของวงการค้าปลีกเสื้อฟุตบอล ที่ขยับตัวเองจากการเป็นเสื้อกีฬาขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมและแฟชันที่มีคุณค่าทางจิตใจและตัวเงิน

ธเนศ โฆษิตวุฒิโสภณ รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัท บูทรูม จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังร้านจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาอย่าง 'Ari' (อาริ) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ถึงเรื่องราวของ 'Ari' ที่เริ่มขึ้นในปี 2552

อาริ - ฟุตบอล
  • ธเนศ โฆษิตวุฒิโสภณ รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัท บูทรูม จำกัด

ศิวัช วสันตสิงห์ และกลุ่มเพื่อนที่มีความหลงใหลในฟุตบอลก่อตั้งบริษัทขึ้นมาด้วยเงินทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท บนพื้นที่เล็กๆ เพียง 20 ตารางเมตร เพื่ออุทิศให้เป็นร้านแห่งฟุตบอลอย่างแท้จริง โดยถือเป็นความแปลกใหม่ของตลาดค้าปลีกที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลในช่วงนั้น 

3 ปีต่อมา 'Ari' เติบโตขึ้น ขยับขยายเปิดร้านจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลสาขาเรือธง ใจกลางย่านสยามสแควร์ บนพื้นที่กว่า 450 ตารางเมตร ของตึก 4 ชั้น นับเป็นร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าหลากหลายแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ชนวนเหตุที่กระตุ้นยอดขายเสื้อฟุตบอลทั้งของทีมชาติไทย ทีมต่างๆ ในลีกฟุตบอลไทยรวมถึงต่างชาติ เกิดขึ้นเมื่อปี 2559 ที่ช้างศึกไทยในยุคซูเปอร์สตาร์ เอาชนะ ทีมชาติอินโดนีเซีย ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน คว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ 2016 มาครอง

ฟุตบอล - ไทย - AFP
  • ฟุตบอลรอบชิงชนะเลิศ เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ 2016

กระแส 'ฟุตบอลฟีเวอร์' ที่ผสมโรงด้วยนักเตะชื่อดังอย่าง 'ชนาธิป สรงกระสินธ์' 'ชาริล ชัปปุยส์' 'กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์' ไปจนถึงหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยอย่าง 'เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง' มีผลอย่างมาก ที่ส่งให้วงการเสื้อฟุตบอลเติบโต และคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

รองประธานฯ ผู้ชื่นชอบและหลงใหลในกีฬาฟุตบอลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อธิบายเพิ่มว่า สำหรับคลื่นของการขายเสื้อบอลจะขึ้นไปแตะจุดพีกตามเหตุการณ์สำคัญ ก่อนหดตัวลงมาเล็กน้อย และขึ้นไปแตะจุดพีกอีกครั้งเป็นวงจรไปเรื่อยๆ

ฟุตบอล - ไทย - AFP

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไฟลูกใหญ่ซึ่งถูกจุดติดไปแล้วในช่วงนั้นส่งผลอย่างต่อเนื่องคือประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มหันมามองการใส่เสื้อฟุตบอลที่ถูกลิขสิทธิ์เป็นเรื่องปกติ ทั้งยังภูมิใจในการสวมใส่เสื้อฟุตบอล โดยเฉพาะเสื้อของทีมที่ตนเองเชียร์ออกไปตามสถานที่ต่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนเป็นผลดีกับร้านอุปกรณ์กีฬา อย่าง 'Ari' อย่างมาก


คนบ้า(บอล) ท้าสู้

ปัจจุบัน ตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ บริษัท บูทรูม ที่เป็นเจ้าของร้าน 'Ari' ยังถูกจัดอยู่ในประเภทธุรกิจค้าปลีกสินค้ากีฬาขนาดเล็ก หรือหมายถึงบริษัทที่มีรายได้รวมไม่เกิน 50 ล้านบาท

ทว่า เมื่อพูดถึงการแข่งขันของธุรกิจในวงการร้านตัวแทนจำหน่ายสินค้ากีฬานำเข้าไปจนถึงอุปกรณ์กีฬาในตระกูลฟุตบอล ธเนศ กล่าวว่า คู่แข่งสำคัญของเขาที่ไม่ว่า 'ตัวเขาคนนั้น' จะมองว่า 'Ari' สามารถขึ้นไปเป็นคู่แข่งของตัวเองได้หรือไม่ คือ Supersports

การตั้งให้ Supersports เป็นคู่แข่ง หมายความว่า 'Ari' กำลังต้องการเอาตัวเองขึ้นไปสู้กับบริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัดซึ่งอยู่ภายใต้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในไทยอย่างเครือกลุ่มเซ็นทรัล และยังเป็นนิติบุคคลที่มีรายได้รวมสูงสุดถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้ากีฬาของไทยด้วย

ปัจจุบัน ซี อาร์ ซี สปอร์ต ทำธุรกิจทั้งผู้บริหารร้านค้าปลีก อาทิ Supersports รวมไปถึง การเป็นผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายแบรนด์สินค้า ได้แก่ ครอคส์, นิว บาลานซ์, เค-สวิส, สเก็ตเชอร์ส, วิลสัน, ลิเวอร์พูล ฟุตบอล คลับ, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และสโมสรบาร์เซโลน่า 

แม้ธุรกิจจะอยู่กันคนละกลุ่มและยอดรายได้มองเห็นช่องว่างอย่างมีนัยสำคัญ แต่รองประธาน ฝ่ายการตลาด ย้ำเสมอว่า จุดเริ่มต้นของบริษัทเริ่มมาจากความชอบฟุตบอลอย่างแท้จริง จนอาจเลยกลายไปเป็นความบ้าในฟุตบอลไปแล้ว

"เราบ้าจริงๆ เราบ้าฟุตบอล เรามีความหลงใหลอยู่กับฟุตบอลจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสตาฟ ผู้บริหาร เราชื่นชอบในวงการฟุตบอลจริงๆ เราอินกับฟุตบอล เราก็เลยคิดว่าตรงนี้มันคือความหลงใหลจริงๆ ที่เราต่อยอด ถามว่าเราจะสู้เขาได้ยังไง เราใช้ความหลงใหลตรงนี้แหละ ที่จะดันตัวเองขึ้นไปให้ถึง"

ขณะที่เป้าหมายสูงสุดของ 'Ari' ในมุมมองที่ ธเนศ ถ่ายทอดออกมาคือการเป็น 'ทุกสิ่งฟุตบอล' (everything football) เมื่อพูดถึงฟุตบอล รองประธานฯ ต้องการให้มีภาพของร้าน Ari เว็บไซต์ Ari ขึ้นมาในความคิดของผู้บริโภคทันที

"คิดถึงฟุตบอล ต้องเดินมาร้านเรา ต้องเข้าเว็บไซต์เรา นั่นคือเป้าหมาย" ธเนศ กล่าว

เท่านั้นยังไม่พอ การตลาดเอื้อประโยชน์ผู้บริโภคที่ Ari นำมาใช้เป็นกลยุทธ์ ยังรวมไปถึงการจับมือเซ็นสัญญากับนักแตะชื่อดังในลีกประเทศไทยเพื่อมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์ อาทิ 'นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม' แบ็กขวาจากทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ 'มิก้า ชูนวลศรี' นักฟุตบอลชาวไทยเชื้อสายเวลส์ จากสโมสรฟุตบอลทรูแบงค็อก ยูไนเต็ด

ธเนศ ยังกล่าวไปถึงการเข้าถึงชีวิตของผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีคนตามกว่า 600,000 คน รวมไปถึงช่องทางอื่นๆ ทั้งยูทูบ ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ซึ่งรองประธานฯ สายงานโดยตรงด้านการตลาดย้ำว่า เข้ามาช่วยเรื่องยอดขายของร้านในช่วงโควิด-19 ได้อย่างมาก 

มากกว่านั้น บนแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ ยังไม่ได้มีไว้เพื่อโปรโมทสินค้าเข้าใหม่โดยตรงหรือมีไว้แจ้งกิจกรรมพิเศษกับทางร้าน หรือกับเหล่านักเตะที่เซ็นสัญญามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพราะตัวรองประธานฯ ก็ยังผลิตคอนเทนต์พูดคุยทั้งเกี่ยวกับประเด็นรองเท้าฟุตบอล การรีวิวสินค้าที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพิ่มเติมเข้าไปอีก

ปีนี้ต้องยกให้ 'ลิเวอร์พูล' 

รองประธานฯ ผู้เปิดเผยชัดว่าเป็นแฟนทีมอาร์เซนอล จากพรีเมียร์ลีก ยอมรับว่าฐานแฟนบอลในประเทศไทยดูลีกจากอังกฤษมากที่สุด ซึ่งส่งผลให้ยอดขายเสื้อฟุตบอลนำเข้ามีสััดส่วนหลักมาจากพรีเมียร์ลีก

ในฤดูกาล 2019/20 ธเนศ ยกให้ทีมที่มาแรงที่สุดสำหรับยอดขายเสื้อตกเป็นของ 'ลิเวอร์พูล' ผู้รอคอยการชูถ้วยแชมป์มาแสนนาน

ลิเวอร์พูล

สาวกปืนใหญ่เล่าให้ฟังว่า แฟนหงส์ในไทยต่างพากันเข้ามาซื้อเสื้อฟุตบอลทั้งเกรดแฟนบอลและเกรดผู้เล่นที่มีราคาสูงถึง 4,600 บาท กันตั้งแต่ช่วงเปิดฤดูกาลแล้ว และร้าน 'Ari' ก็ขายเสื้อหมดตั้งแต่ช่วง 1-2 วันแรก หลังเปิดตัว

กระแสความนิยมที่ท่วมท้นดังกล่าว ทำให้แฟนบอลหงส์แดงที่หวังจะมาตามหาเสื้อบอลฉลองแชมป์ หลังนัดชี้เป็นชี้ตายที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ บุกไปแพ้เชลซี ด้วยคะแนน 1-2 ต้องอกหักกันไปตามๆ กัน เพราะที่ร้านขายเสื้อหมดสต็อกไปตั้งแต่ต้นฤดูกาลแล้ว

"จริงๆ แล้ว เสื้อลิเวอร์พูลเราหมดก่อนที่ลิเวอร์พูลจะได้แชมป์อีก คนก็จะมาตามหา จะเหลือก็ชุดทีมเยือนบ้าง คนพยายามตามหาเก็บลิเวอร์พูลให้ได้ แต่เราหมดเกลี้ยงแล้ว"

ธเนศ เสริมว่า นอกจากเหตุการณ์เสื้อฟุตบอลนำเข้าขายออกอย่างถล่มทลายในครั้งนี้ ร้าน 'Ari' เคยเจอประสบการณ์ใกล้เคียงกัน เมื่อครั้งที่ 'ปีเตอร์ ชไมเคิล' อดีตนักแตะทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาโชว์ตัวที่หน้าร้าน ตอนที่ทีมเปลี่ยนสปอนเซอร์มาเป็น Adidas 


ฟุตบอลไม่มีเพศ-เสื้อบอลใส่ได้ทุกที่ 

ขณะที่เมื่อวกกลับเข้าสู่ประเด็นดราม่า ธเนศ ตอบกลับมาอย่างสบายๆ ว่า ถ้าเป็นมุมการสวมใส่เสื้อบอลของตนเอง และถูกวิจารณ์จากคนใกล้ตัวหรือคนที่ตนเองรัก ก็คงจะต้องมีการพูดคุยกันว่าสิ่งที่ตัวเองสวมใส่เป็นความชอบ เป็นแฟชัน และก็ดูตามกาลเทศะแล้ว จึงไม่ควรเป็นประเด็นที่ต้องมาห้ามเสรีภาพของกัน

ฟุตบอล - ไทย - AFP

"เรายังไม่เคยห้ามคุณเลย ทำไมคุณมาห้ามเรา" ธเนศ

ถ้าเสียงวิจารณ์ดังกล่าว มาจากบุคคลภายนอก ก็คงมองไปที่ประเด็นทัศนคติว่าทำไมถึงมาวิจารณ์ในทำนอนนั้น พร้อมเสริมว่าคำพูดที่ออกมา เสมือนเป็นการ "บูลลี่" เพราะคนพูดอาจมองว่าเสื้อบอลไม่มีคุณค่า ไม่มีราคา ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เสื้อบอลที่ถูกลิขสิทธิ์ก็มีราคาไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท ทั้งยังเป็นคุณค่าทางจิตใจของคนที่ใส่ด้วย 

ขณะที่ 'พนัสชัย คงศิริขันต์' นักข่าวและแฟนฟุตบอลทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ปกติ ตนเองใส่เสื้อฟุตบอลไปตามสถานที่ต่างๆ ตามแต่ความเหมาะสมมาโดยตลอด และก็ไม่เคยถูกวิจารณ์แต่อย่างใด จึงไม่เข้าใจว่ากระแสดราม่าที่เกิดขึ้น เกิดมาจากแนวคิดไหน 

เสื้อบอล
  • พนัสชัย คงศิริขันต์ นักข่าวและแฟนฟุตบอลทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

นอกจากนี้ เสื้อฟุตบอลก็ยังเป็นแฟชันที่ไม่ได้จำกัดเพศ และผู้หญิงหลายๆ คน โดยเฉพาะในฝั่งคนดังในวงการต่างๆ ก็นิยมใส่เสื้อฟุตบอลไม่ต่างกับเพศชาย ทั้งยังนิยมสวมใส่เสื้อฟุตบอลทีมโปรดโดยเฉพาะเมื่อทีมของตนเองชนะ ซึ่งถ้าให้มอง กระแสครั้งนี้ ยิ่งกลับทำให้คนหันมาใส่เสื้อฟุตบอลเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ และก็เป็นเรื่องๆ ดีๆ กับเหล่าผู้ผลิตเสื้อฟุตบอลขาย 

ด้าน 'สุรีภรณ์ เสาแก้ว' ผู้ประสานงานฝ่ายขาย (เออี) ที่ทำงานอยู่ย่านสยาม ชี้ว่า ตัวเธอเป็นผู้หญิงที่ใส่เสื้อฟุตบอลไปไหนมาไหนตลอด และไม่ได้มองว่าการใส่เสื้อกีฬาออกมานอกสนามกีฬาเป็นเรื่องแปลก ทั้งยังเป็นเรื่องที่ทำให้สวยงาม และสนุกกับการแต่งตัวได้ด้วยซ้ำ 

เสื้อบอล
  • สุรีภรณ์ เสาแก้ว' ผู้ประสานงานฝ่ายขาย (เออี)

สุรีภรณ์ เล่าว่า เชียร์ทีมฟุตบอลในประเทศเป็นหลัก และมักจะเสียเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเก็บสะสมเสื้อของทีมโปรดฤดูกาลละ 2 แบบ ตลอด พร้อมเสริมว่า เธอเองที่เป็นผู้หญิง ก็อยากแนะนำให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ยังไม่เปิดใจ ลองเปิดใจใส่ดู เพราะแฟชันในวงการเสื้อบอลก็พัฒนามามากแล้ว และสามารถนำมาจับคู่กับเสื้อผ้าอื่นๆ ให้สวยงามได้ 

ธเนศ ปิดท้ายการสัมภาษณ์นี้ ย้ำว่า แท้จริงแล้วทุกสิ่งอย่างเป็นเรื่องของสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ตัวเขาที่อยู่ในวงการก็ไม่เคยคิดว่าฟุตบอลเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น ทั้งยังตอบติดตลกว่า เขาเองยิ่งอยากให้ผู้หญิงหันมาดูฟุตบอลเยอะขึ้น เพราะนั่นหมายถึงร้าน Ari จะมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง 

แท้จริงแล้ว ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการสวมใส่เสื้อกีฬา ก็ไม่ได้มีแค่กับกรณีของเสื้อฟุตบอลในประเทศไทย ย้อนกลับไปในปี 2561 หนังสือพิมพ์ The New York Times ลงบทความที่มีชื่อว่า 'Why Yoga Pants Are Bad for woman' หรือแปลได้ว่า 'ทำไมการสวมกางเกงโยคะถึงเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับผู้หญิง' 

ในช่วงหนึ่งของบทความดังกล่าว โอเนอร์ โจนส์ หยิบประเด็นเรื่องวัฒนธรรมในการตัดสินผู้คนจากรูปร่างขึ้นมาเป็นข้อโต้เถียงหลัก โดยกล่าวว่า การใส่กางเกงโยคะทำให้เป็นเรื่องยากที่ผู้คนจะไม่มองกันและวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างของอีกฝ่ายได้ พร้อมเสริมว่า ผู้คนทุกวันนี้ไม่ได้ใส่กางเกงโยคะด้วยเหตุของความสะดวกสบายในการออกกำลังกาย แต่ใส่เสื้อผ้าเหล่านั้นเพื่อต้องการให้ตัวเองดู 'เซ็กซี่' ขึ้น 

เธอยังแสดงความคิดเห็นต่อเนื่องไปว่า แนวคิดแบบนี้ควรหมดไปสักที ดังนั้นการหยุดสวมใส่เสื้อผ้าที่เปิดโอกาสให้ผู้คนบ่มเพาะแนวความคิดตัดสินกันที่รูปร่างจึงเป็นเรื่องที่ดี และตอบคำถามว่าทำไมกางเกงโยคะถึงเป็นสิ่งที่ไม่ดี 

ไม่เพียงแค่บทความดังกล่าวจะก่อให้เกิดเสียงตีกลับอย่างมาก จากคนที่ได้อ่านบทความนั้น แท้จริงแล้ว ผู้หญิงจำนวนมากก็ออกมาต่อสู้เรื่องการใส่กางเกงโยคะเป็นเวลานานแล้ว โดยชี้ว่า พวกเธอใส่กางเกงโยคะเพื่อออกกำลังกายเพราะเป็นชุดที่เหมาะสมไม่ได้ใส่เพื่อให้เกิดความเซ็กซี่

เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแสดงความคิดเห็นไม่เคยหมดไป และทั้งกรณีกางเกงโยคะและเสื้อฟุตบอลก็จะไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้าย ทั้งนี้ หากเสรีภาพทั้งในการแสดงความคิดเห็นและการสวมใส่เสื้อผ้าที่ถูกกาลเทศะยังมีอยู่ เชื้อได้ว่าจะไม่มีใครได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

ยิ่งเมื่อกลับไปดูตัวเลขในการเติบโตของแต่ละอุตสาหกรรมที่โดนวิจารณ์แล้ว แทบจะเรียกได้ว่า ไม่ต้องมาตั้ง แฮชเท็กเซฟใคร บริษัทที่ผลิตสินค้าเหล่านั้นก็ไม่ล้มลงไปอยู่แล้ว