ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเพื่อไทย ยืนยัน เลือกตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนประธานกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขต้องจริงใจ ไม่ใช่แค่มาซื้อเวลา เตรียมส่ง "วัฒนา-โภคิน-พงศกร" นั่ง กมธ.ในสัดส่วนพรรค พร้อมย้ำ ไม่แตะ หมวด 1

ที่พรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน และนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรค แถลงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค

โดยระบุถึงการที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติตั้งคณะกรรมาธิการ หรือ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยจะมี 10 คน โดยกระบวนการภายในแบ่งเป็นส่วนกลางของพรรค 3 คน มีมติส่ง นายโภคิน, นายวัฒนา และนายพงศกร อรรณนพพร รองหัวหน้าพรรค เป็น กมธ. กับอีก 7 คน แต่ส่วนภูมิภาคของพรรค ยังไม่มีการประชุมเพื่อกำหนดตัวบุคคล

ส่วนผู้ที่จะมาเป็นประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า เป็นเรื่องรอง ที่สำคัญคือ เนื้อหาและวัตถุประสงค์ของ กมธ.ฯ ดังนั้น ผู้ที่จะมา เป็นประธานกมธ ต้องมีความจริงใจและเห็นปัญหา และความจำเป็นที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ให้เป็นประชาธิปไตย ส่วนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังยืนยันที่จะ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. โดยตรง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนให้ประชาชนลงประชามติ 

วัฒนา-เพื่อไทย-แก้รัฐธรรมนูญเพื่อไทย-แก้รัฐธรรมนูญ

นายโภคิน กล่าวว่า ต้องการเข้าไปช่วยงาน เพื่อกำหนดกติการ่วมกันที่ทุกฝ่ายยอมรับ ให้ประเทศมีโรดแมปในการเดินไปข้างหน้า และไม่ต้องการไปแย่งตำแหน่งกับใคร โดยเฉพาะตำแหน่ง ประธาน กมธ. ส่วนจะมีพรรคการเมืองบางพรรคเสนอคนนอกหรือคนที่เคยยกร่างรัฐธรรมนูญ มาเป็นประธาน กมธ.นั้น ถือเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายจะได้มาทำงานร่วมกัน แต่ที่สำคัญคือ ต้องมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยเปิดกว้างให้มีการ แสดงความคิดเห็นและถกเถียงกันอย่างเต็มที่ในช่วงรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา, เลือกตั้ง ส.ส.ร.และลงประชามติ ซึ่งพรรคเพื่อไทย ยืนยัน จะไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับ 7 พรรคฝ่ายค้านที่มีข้อตกลงร่วมกัน

นายวัฒนา กล่าวว่า กมธ.ฯ คือ กระบวนการรับฟังประชาชน และนำผลที่ได้ส่งถึงทุกภาคส่วนของสังคม ส่วนการมี ส.ว.3-4 คนออกมาคัดค้านนั้นเป็นเพียงส่วนน้อย เชื่อว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ยังรอฟังเสียงประชาชนอยู่ ซึ่งกระบวนการจนได้ผลศึกษาจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน เมื่อส่งเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาก็จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน และเมื่อมีสสก็จะใช้เวลาในการยกร่าง อีกราว 2 ปี ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการในตอนนี้ก็จะไม่ทันการเลือกตั้ง รอบหน้าอย่างแน่นอน 

นายวัฒนา ยืนยันว่า หากสภาผู้แทนราษฎร ต้องลงมติเลือกประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญในกรณีที่มีการเสนอชื่อหลายคน พรรคเพื่อไทยก็จะฟังวิสัยทัศน์และลงมติเลือกผู้ที่มีแนวคิดเหมือนกับพรรค คือเห็นปัญหาและต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ต้องการมาเป็นประธาน กมธ.ฯ เพื่อจะยื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปเท่านั้น

เพื่อไทย-แก้รัฐธรรมนูญ