ไม่พบผลการค้นหา
เกาหลีใต้กดดันผู้นำโบสถ์ชินชอนจิ 'ขอโทษ' สังคม ในฐานะที่เป็นต้นตอ 'โควิด-19' แพร่ระบาดใหญ่ ส่วนกรรมการโอลิมปิกอังกฤษถูกสอบสวน หลังพบ 'นักมวยติดเชื้อ' แต่ 'สนามมวย' ในไทยเดินหน้าชกต่อแม้มีหนังสือแจ้งเลื่อน จนมีคนถามหา 'ความรับผิดชอบ' กันดังๆ

รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ 'พ้นภาวะวิกฤต' มาได้แล้ว และสถิติผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศยังไม่ถึง 10,000 ราย สวนทางประเทศแถบยุโรปที่มีผู้ติดเชื้อเกินหลักหมื่น แต่ก็ยังไม่ยกเลิกคำสั่งเฝ้าระวังด้านสาธารณสุข ทั้งยังประกาศให้เมืองแทกูและเมืองคยองซังเป็น 'เขตควบคุมโรค' ตามเดิม เพราะพื้นที่แห่งนี้ คือ 'ศูนย์กลางการแพร่ระบาดครั้งใหญ่' ในประเทศ

ต้นตอการแพร่ระบาดในเมืองแทกูเกิดจากสมาชิกของ 'โบสถ์ลัทธิชินชอนจิ' ที่เชื่อว่าผู้นับถือลัทธินี้จะได้รับความช่วยเหลือในวันสิ้นโลก และผลสำรวจของรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2563 สรุปว่า ผู้ป่วยรายที่ 31 ซึ่งเป็นหญิงวัย 61 ปี และเป็นสมาชิกโบสถ์ชินชอนจิ คือ Super Spreader หรือผู้แพร่กระจายเชื้อรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้ผู้ที่เคยพบหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วยติดเชื้อ รวมกว่า 5,080 ราย และมีผู้เสียชีวิต 28 ราย

เว็บไซต์ Hankyo Reh สื่อเกาหลีใต้ รายงานว่า การประกอบพิธีของสมาชิกโบสถ์ชินชอนจิ ซึ่งเป็นความเชื่อหนึ่งในเกาหลีใต้ที่อ้างอิงศาสนาคริสต์ มีส่วนอย่างมากในการแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด-19 เพราะสมาชิกโบสถ์แห่งนี้จะใช้วิธีสวดภาวนาด้วยการนั่งล้อมวงและจับมือกันบนพื้นห้อง ทั้งยังต้องตะโกนคำว่า 'อาเมน' ออกมาดังๆ และไม่อนุญาตให้สมาชิกสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะประกอบพิธี ผู้ที่เป็นพาหะจึงแพร่กระจายเชื้อให้แก่สมาชิกคนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว

REUTERS-Lee Man-Hee อีมันฮี ผู้ก่อตั้งโบสถ์ลัทธิชินชอนจิในเกาหลีใต้ ขออภัยประชาชน เหตุแพร่โควิด-19 ไวรัสโคโรนา
  • อีมันฮี ผู้ก่อตั้งโบสถ์ลัทธิชินชอนจิ ขออภัยสาธารณชน กรณีโควิด-19 แพร่ระบาด

กระแสกดดันจากสังคมที่ทราบว่าสมาชิกลัทธินี้ปกปิดข้อมูล ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจสอบอาการในช่วงแรกที่มีข่าวเรื่องโรคระบาดในจีน ทั้งยังไม่ป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ทำให้ 'อีมันฮี' ผู้นำและผู้ก่อตั้ง 'โบสถ์ชินชอนจิ' ต้องออกมาแถลงขอโทษต่อหน้าสื่อ โดยเขาได้ก้มลงคารวะกับพื้นเพื่อขออภัยต่อสาธารณชน เมื่อวันที่ 2 มี.ค. พร้อมระบุว่า ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น 


แค่ขอโทษยังไม่พอ

การแถลงข่าวและขออภัยของ 'อีมันฮี' ไม่อาจทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในเกาหลีใต้คลายความโกรธเคืองลงไปได้ ทั้งยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายอื่นๆ ในเกาหลีใต้ที่มองว่าโบสถ์ชินชอนจิซึ่งมีความเชื่อเรื่องวันสิ้นโลกและโลกใหม่แตกต่างไปจากนิกายอื่นๆ นั้น "เข้าข่ายมอมเมาประชาชน"

ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ลงชื่อนับล้านคนเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้สั่งปิดเครือข่ายโบสถ์เหล่านี้ทั่วประเทศ รวมถึงแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พิจารณาดำเนินคดีอาญาแก่ผู้บริหารของโบสถ์ชินชอนจิ 12 ราย ในฐานะผู้เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลที่นำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นผู้ที่ต้อง 'รับผิดชอบ' ที่การกระทำเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ ในสังคม

นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นในเมืองแทกู ซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดจากการระบาดของโควิด-19 ก็ยังประกาศไม่ยอมรับเงินบริจาคประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 330 ล้านบาท) จากโบสถ์ชินชอนจิ ซึ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางรายเห็นด้วยว่าไม่ควรรับ โดยระบุว่า นี่ไม่ใช่การบริจาค แต่เหมือนเงินติดสินบนมากกว่า

ทางด้าน Arirang News รายงานว่า เงินไม่ใช่สิ่งที่เมืองแทกูต้องการ แต่ถ้าอยากช่วยเหลือจริงๆ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโบสถ์ชินชอนจิทั้งหมดให้ความร่วมมือในการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องการฝ่าฝืนมาตรการรับมือโรคระบาดจะดีกว่า

นิกเคอิเอเชี่ยนรีวิวรายงานว่า สมาชิกโบสถ์ชินชอนจิทั่วเกาหลีใต้มีอยู่ประมาณ 200,000 คน และอดีตสมาชิกที่ผันตัวมาต่อต้านโบสถ์ชินชอนจิให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ลัทธินี้เชื่อว่า "การป่วยเป็นบาป" เพราะเป็นอุปสรรคไม่ให้สมาชิกสามารถทำงานเพื่อพระเจ้า สมาชิกของโบสถ์แห่งนี้จึงมักจะปกปิดอาการป่วยของตัวเอง

สอดคล้องกับที่ AFP รายงานว่า ผู้ป่วยรายที่ 31 ที่เป็น Super Spreader เข้าพบแพทย์ครั้งแรกเมื่อ 7 ก.พ. หลังเกิดอุบัติเหตุทางถนน และเธอบอกกับแพทย์ว่ามีอาการเจ็บคอ แต่ไม่ยอมให้แพทย์ตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 จนกระทั่ง 10 วันต่อมา เธอได้พบแพทย์อีกครั้ง และมีอาการบ่งชี้ว่าอาจจะติดโรคโควิด-19 จึงไม่สามารถเลี่ยงการตรวจได้อีก แต่ที่ผ่านมามีความพยายามปกปิดอาการป่วย และยังเข้าร่วมกิจกรรมของโบสถ์ชินชอนจิโดยมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนจำนวนมากนับพันคน


ไทยก็มี Super Spread แต่ยังไม่มีคำขอโทษ

กรณีของประเทศไทยก็มีเหตุการณ์แพร่ระบาดใหญ่ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ 'สนามมวยเวทีลุมพินี' ในกรุงเทพฯ เพราะผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับสนามมวยแห่งนี้มีจำนวนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิงและกิจกรรมในที่อื่นๆ สื่อมวลชนบางสำนักจึงเรียกกรณีนี้ว่า Super Spreader หลังพบการแพร่ระบาดไปยัง 13 จังหวัดนอกเหนือจากกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานบ่งชี้ด้วยว่า การจัดกิจกรรมชกมวยที่สนามมวยฯ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดที่ตรวจสอบย้อนกลับไปได้นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ 'การกีฬาแห่งประเทศไทย' มีหนังสือถึงนายสนามมวยเวทีลุมพินี ขอให้เลื่อนหรือหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมออกไปก่อน เพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคระบาด 

https://scontent.fbkk12-2.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/90140637_2846487118742861_3420211938183872512_n.jpg?_nc_cat=105&_nc_sid=110474&_nc_eui2=AeELBUo56-BQZ5mgejd5FWB3C3l7ACjf6oBybjOJhLiTTvzhu_LfBQmQUdzfV-3FqjdN9abH_zxgMjbp1b8IVKNnneQsHkAzHCf4AYH4cn3rHg&_nc_ohc=ncmXYD18-k8AX9BecGp&_nc_ht=scontent.fbkk12-2.fna&oh=b0bbd7bfb092cd7d203a59b515b6a946&oe=5EA10A85
  • สนามมวยเวทีลุมพินีพ่นยาฆ่าเชื้อหลังพบการแพร่ระบาดโควิด-19

ขณะนี้มีผู้เคลื่อนไหวเรียกร้อง 'ความรับผิดชอบ' จากสนามมวยเวทีลุมพินี อย่างน้อย 3 รายคือ (1) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ขอให้ตรวจสอบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐจงใจฝ่าฝืนข้อสั่งการของนายกฯ จัดชกมวยที่สนามมวยลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มี.ค. จนเป็นเหตุให้โรคโควิด-19 แพร่ระบาด หรือไม่ อย่างไร

(2) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งระบุว่าจะไปยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกฯ ในวันที่ 27 มี.ค.2563 เพื่อให้ตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดนายสนามมวยลุมพินี โดยให้เหตุผลประกอบ "เพื่อพิสูจน์ให้สังคมประจักษ์ว่ามติและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและ ครม.ยังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่หรือไม่ หรือเอาผิดได้แต่เฉพาะประชาชนคนธรรมดาเท่านั้น ส่วนนายทหารไม่กล้าแตะ" 

(3) ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งโพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก Mana Nimitmongkol เรื่อง "คนผิดต้องโดนลงโทษ" โดยมีเนื้อหาให้ตรวจสอบและลงโทษผู้เกี่ยวข้องที่ฝ่าฝืนข้อสั่งการของนายกฯ จัดชกมวยในช่วงที่มีโรคระบาด

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผู้เกี่ยวข้องกับสนามมวยเวทีลุมพินีออกมาขอโทษต่อสาธารณชน ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งการเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ให้ พล.อ.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีที่มีการจัดชกมวย 'ลุมพินีแชมเปี้ยนเกียรติเพชร' ในวันที่ 6 มี.ค.จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบกลุ่มก้อน หรือ cluster ครั้งใหญ่ เนื่องจากปัจจุบัน สนามมวยแห่งนี้อยู่ในความดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก กองทัพบก


Timeline โควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับสนามมวยฯ ลุมพินี

4 มี.ค.2563 - การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มีหนังสือถึงนายสนามมวยเวทีลุมพินี ขอความร่วมมืองดจัดการแข่งขันกีฬา ที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ให้สนามมวยทราบ

6 มี.ค.2563 - การชกมวย 'ลุมพินีแชมป์เปี้ยนเกียรติเพชร' ถูกจัดขึ้นที่สนามมวยเวทีลุมพินี มีพิธีกร เซียนมวย ผู้ชมการแข่งเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

13 มี.ค.2563 - แมทธิว ดีน พิธีกรในการชกมวย 'ลุมพินีแชมป์เปี้ยนเกียรติเพชร' ประกาศตนเองเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19

16 มี.ค.2563 - พล.ต.ราชิต อรุณวงษ์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ผู้เข้าชมการชกมวยเมื่อ 6 มี.ค.ที่สนามมวยฯ ลุมพินี ถูกตรวจพบว่าเป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด-19

17 มี.ค.2563 - กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือให้ผู้มีประวัติเกี่ยวข้องกับสนามมวยในวันที่ 6-8 มี.ค. กักตัวดูอาการว่าเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่

20 มี.ค.2563 - กระทรวงสาธารณสุขประกาศพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 18 ราย เป็นผู้มีประวัติเคยสัมผัสหรือเคยไปสนามมวยลุมพินี ได้แก่ ผู้ชมมวยจากต่างจังหวัด เซียนมวย และกรรมการ ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังต่างจังหวัด

25 มี.ค.2563 - เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการฝ่าฝืนคำสั่งนายกฯ จัดชกมวย จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดหรือไม่

26 มี.ค. 2563 - พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. สั่ง พล.อ.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ตั้งคณะกรรมการสอบสวน

อย่างไรก็ตาม สนามมวยลุมพินีไม่ใช่กรณีเดียวที่พบการติดเชื้อโควิด-19 เกี่ยวพันกับการชกมวย เพราะล่าสุดพบการติดเชื้อที่สนามมวยเวทีราชดำเนินเช่นกัน

นอกจากนี้ 'คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก' (IOC) ประจำยุโรป เพิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเลยมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ทำให้นักกีฬาเสี่ยงภัยหรือได้รับอันตราย หลังจาก IOC จัดการแข่งขันชกมวยรอบคัดเลือกที่อังกฤษเมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้นักมวยและโค้ชจากตุรกี 3 รายติดเชื้อโควิด-19

The Guardian รายงานว่า การแข่งขันรอบคัดเลือกถูกจัดขึ้นทั้งที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ยุโรปเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ของโควิด-19 ทั้งยังจัดแข่งเพียง 3 วันก็ระงับก่อนกำหนด และนักกีฬาที่เข้าร่วมก็ยังไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมคืน จึงมีการเรียกร้องให้สอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องที่เกิดขึ้น