ไม่พบผลการค้นหา
เอฟทีเอวอทซ์ชี้พลังประชาสังคมตรวจสอบนโยบายการค้าระหว่างประเทศ จนนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาฯ รัฐสภา พร้อมติดตามผลประชุม CPTPP ครั้งที่ 3 พบไทยยังไม่ยื่นเจตจำนง ส่วนอีก 4 ชาติสมาชิกยังไม่ให้สัตยาบันเพิ่ม

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ออกแถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก บัญชีชื่อ 'FTA Watch' เปิดเผยถึงการเกาะติดสถานการณ์การแสดงเจตจำนงเข้าร่วมการเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ในการประชุมประเทศสมาชิกที่จัดขึ้นในวันนี้ (5 ส.ค. 2563) โดยพบว่า ยังไม่มีประเทศใดยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมเจรจาอย่างเป็นทางการ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการทักท้วงและความสนใจของประชาชนในทุกภาคส่วนที่ส่งเสียงตรวจสอบการกำหนดนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รัฐสภา เพื่อศึกษาผลดีและผลกระทบของความตกลงฯ ดังกล่าว

โดยในแถลงการณ์มีข้อความระบุว่า วันนี้ (5 ส.ค. 2563) จะมีการประชุมประเทศสมาชิก #CPTPP ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจนถึง ณ ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะขอเจรจาเข้าร่วมเพิ่มอย่างเป็นทางการ รวมทั้งประเทศไทย และประเทศภาคีเดิม 4 ประเทศ (มาเลเซีย บรูไน ชิลี เปรู) ไม่มีการให้สัตยาบันเพิ่ม

สำหรับประเทศไทย พวกเรา FTA Watch ซึ่งติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมและความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ ขอขอบคุณประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ช่วยกันส่งเสียงตรวจสอบการกำหนดนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาทำให้สื่อมวลชนกระแสหลักนำเสนอข่าวและข้อมูลมากขึ้น จากเดิมมีเฉพาะสื่อทางเลือกและสื่อออนไลน์ที่ทำหน้าที่กันอย่างแข็งขัน และ กระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบ และที่กำลังได้ผลกระทบจากข้อตกลงการค้าที่ผ่านมาได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่จากเดิมที่เคยถูกทุนขนาดใหญ่กดทับไว้

ถึงแม้วันนี้ ประเทศไทยจะไม่เข้าร่วมเจรจา CPTPP แต่มีหลายเรื่องที่ประเทศไทยต้องทำ อาทิ การเตรียมพร้อมปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศ การแก้ไขและพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าหลัง แต่ต้องไม่ทำลายการคุ้มครองประชาชนคนเล็กคนน้อย เน้นการพึ่งตัวเองได้ และพัฒนาความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข ที่เป็นรากฐานสำคัญในการฝ่าวิกฤติต่างๆ แต่ต้องไม่ใช่เป็นการกำหนดของบรรดาชนชั้นนำด้านธุรกิจและการเมืองเท่านั้น แต่ต้องมาจากการตัดสินใจร่วมกันของคนทั้งสังคมด้วยฐานข้อมูลความรู้

รวมถึงการตั้งกองทุนเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความตกลงการค้าต่างๆ โดยเงินกองทุนส่วนใหญ่ต้องมาจากธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากความตกลงการค้า ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะกับความตกลงการค้าเขตการค้าเสรีอย่าง CPTPP เท่านั้น ยังรวมถึงความตกลงการค้าระหว่างประเทศอื่นๆ ที่จะแก้ไขหรือเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ที่ผ่านมา การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 178 ได้ทำลายทุกกระบวนการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก่อนการเข้าร่วมเจรจา แต่เสียงที่ดังชัดของประชาชนคนรุ่นใหม่ ทำให้กระบวนการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติเกิดขึ้นได้จริง

พวกเขาใฝ่หาข้อมูล ความรู้ สนใจความเป็นไปของบ้านเมือง และใช้การรณรงค์สื่อสารในช่องทางที่พวกเขาถนัดและสร้างสรรค์ อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

ดังนั้น พวกเรา FTA Watch จึงขอสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มนิสิต นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ให้หยุดคุกคามผู้เห็นต่าง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้แล้วเสร็จ และยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ทั้งนี้ การประชุมประเทศสมาชิก CPTPP ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นในวันนี้ (5 ส.ค. 2563) เป็นการประชุมออนไลน์ ที่มีรัฐมนตรี 11 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม โดยสื่อญี่ปุ่นรายงานอ้างอิงรอยเตอร์ส ระบุว่า ยาซูโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ญี่ปุ่น กล่าวว่า การประชุม CPTPP ในสัปดาห์นี้จะเป็นการประกาศที่ชัดเจนถึงการสนับสนุนการค้าเสรีนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีรัฐมนตรีเศรษฐกิจและรัฐมนตรีพาณิชย์ของประเทศสมาชิกร่วมการประชุมผ่านวิดีโอ พร้อมกับให้ความเห็นว่า เขาเชื่อมั่นในการสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฟื้นตัว

ที่มา : https://kfgo.com/2020/08/05/japans-nishimura-free-trade-will-be-important-for-economic-recovery/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :