ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากสภาล่มในวันสุดท้าย (15 ส.ค.2565) ของระยะ 180 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดเวลาไว้สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ก็เป็นอันว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ร่างที่ผ่านวาระ 1 (แบบหาร 100) ผ่านวาระ 2 (แบบหาร 500) ต้องตกไป

รัฐธรรมนูญกำหนดว่า กรณีสภาพิจารณาไม่ทัน 180 วันให้ถือว่าสภาเห็นชอบร่างที่เสนอมาตอนแรกเลย กรณีนี้มี 4 ร่าง แต่ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 101 กำหนดให้หยิบ 'ร่างหลักในวาระสอง' มาใช้ ซึ่งก็คือร่างที่ ครม.เสนอ ซึ่งจัดทำโดย กกต. ซึ่งเป็นสูตรหารด้วย 100

ทั้งนี้ การกำหนดให้การคำนวนที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 จะได้ระบบเลือกตั้งที่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 บัตรสองใบคำนวณแยกขาดจากกัน ซึ่งดีต่อพรรคใหญ่แต่พรรคเล็กจะเกิดยาก แต่หากหาร 500 จะคำนวณคะแนนส.ส.เขตและส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบสัมพันธ์กัน ดีต่อพรรคขนาดเล็กและขนาดกลาง แต่อาจทำให้พรรคขนาดใหญ่หรือพรรคที่แข็งแกร่งด้าน ส.ส.เขต ได้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยลง หรือไม่ได้เลย

ขั้นตอนของ ร่าง พ.ร.ป.หลังจากนี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 นพ.ระวี มาศฉมาดล ตัวแทนพรรคเล็กที่เชียร์สูตรหาร 500 ระบุว่า "สงครามยังไม่จบฯ" เพราะจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่างดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ตามมา

เนื่องจากอย่างที่ทราบกันว่า ต้นทางของการร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับนี้ เกิดจากการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งที่รัฐสภาเลือกใช้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแก้แบบ 'ไม่สะเด็ดน้ำ' ทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องขัดรัฐธรรมนูญกันตลอดเส้นทางร่างกฎหมายลูก

วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายที่ไม่ว่าสภาเผชิญกับปัญหาทางกฎหมายเรื่องใดนักข่าวต้องเอาไมค์จ่อปากถาม ตอบคำถามนักข่าวที่ถามว่า พรรคเล็กจะสามารถใช้กลยุทธ์ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ตอนไหน มือกฎหมายของรัฐบาลตอบว่า ทำได้ทั้งในช่วง 3 วันที่ประธานรัฐสภาถือร่างอยู่ และในช่วง 5 วันที่นายกฯ ถือร่างอยู่ เพื่อรอดูว่าจะมีใครเสนอให้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือแม้แต่ช่วง 20 วันที่นายกฯ เตรียมจะส่งร่างทูลเกล้าฯ ก็ยังกระทำได้ทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ ตามกฎหมายระบุว่า ต้องใช้เสียง ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้งสองสภา เพื่อยื่นให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อดูตามรัฐธรรมนูญ 2560, ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของรองนายกฯ วิษณุ กระบวนการหลังจากนี้ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะดำเนินไปตามแผนภาพนี้ ซึ่งเป็นกรอบกว้างๆ ตามกฎหมายกำหนด และสามารถเร่งให้เร็วขึ้นได้ในทุกช่วง หากอยากจะเร่ง

กระบวนการผ่านร่าง พ.ร.ป.

(1) ประธานสภาหยิบร่างหลักขึ้นมา ส่งให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง กรณีนี้คือ กกต. พิจาณาภายใน 15 วัน

(2) กกต. มีเวลาพิจารณา 10 วัน หากมีข้อท้วงติงให้แก้ไขก็ส่งกลับคืนและสภาทำการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

(3) กรณีไม่มีข้อท้วงติงให้แก้ไข ประธานสภาเตรียมส่งให้นายกฯ แต่ต้องชะลอไว้ 3 วัน เพื่อดูว่าจะมีส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ของรัฐสภา เพื่อขอให้ประธานสภาส่งร่างนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

(4) หากมี ประธานสภาก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาไว้ว่าจะต้องวินิจฉัยภายในกี่วัน หากศาลเห็นว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายจะตกไป ต้องเริ่มกระบวนการใหม่หมด หากศาลเห็นว่าขัดเล็กน้อยบางจุด จะส่งให้สภาแก้ไขอีกหน

(5) หากไม่มีการเข้าชื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาจะส่งร่างให้นายกฯ เตรียมทูลเกล้าฯ

(6) นายกฯ ได้รับร่างแล้วต้องชะลอไว้ 5 วัน เพื่อดูว่า จะมีส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 เพื่อขอให้ประธานสภาส่งร่างนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ (อีกหน)

(7) หากไม่มีใครยื่นศาล นายกฯ ต้องทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน

(9) หลังทูลเกล้าฯ แล้วกระบวนการนี้กำหนดไว้ไม่เกิน 90 วัน

(10) ลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป