ไม่พบผลการค้นหา
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตเร็วกว่าที่คาดไว้มาก ในช่วง 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการส่งออกของประเทศ

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นกว่า 6% ต่อปีในช่วงเวลา 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ อัตราการเติบโตดังกล่าว นับเป็นอัตราที่มากกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์เอาไว้ถึง 2 เท่า และนับเป็นอัตราการเติบโตของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี

ทั้งนี้ การอ่อนตัวของค่าเงินเยนส่งผลบวกต่อภาคธุรกิจของผู้ส่งออก เนื่องจากสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นมีราคาถูกลงสำหรับผู้บริโภคทั่วโลก โดยสกุลเงินเยนของญี่ปุ่นตกลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และลดลงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับสกลุเงินเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้

“เงินเยนที่อ่อนค่าอยู่เบื้องหลังตัวเลข GDP ที่เป็นบวก” มาร์ติน ชูลซ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของฟูจิตสึ กล่าวกับสำนักข่าว BBC

ตัวเลข GDP นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ในการพิจารณาว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศกำลังดำเนินไปได้ดีหรือแย่เพียงใด ตัวเลข GDP ยังช่วยให้ภาคธุรกิจต่างๆ ตัดสินใจได้ว่าเมื่อใดพวกเขาควรขยายกิจการและจ้างคนเพิ่ม และช่วยให้รัฐบาลสามารถคำนวณได้ว่า รัฐจะต้องมีการจัดเก็บภาษีและใช้จ่ายงบประมาณเท่าใด

ค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง ยังก่อให้เกิดผลกำไรของผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงโตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน ที่ได้รับแรงหนุนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีความต้องการส่งออกเพิ่มขึ้น

แม้ว่าสกุลเงินเยนที่อ่อนค่าจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก เช่น น้ำมันและก๊าซ กลับลดลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กรณีดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าของญี่ปุ่นลดลง 4.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่ง โนบูโกะ โคบายาชิ จาก EY เรียกว่าเป็น "ตัวการสำคัญสำหรับการเติบโตของ GDP"

เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังได้รับแรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่รัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดด้านพรมแดนเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยตามข้อมูลของหน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งชาติของญี่ปุ่น เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวขึ้นมาเป็นมากกว่า 70% ของระดับตัวเลขก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นตั้งแต่เดือนนี้ หลังจากที่จีนยกเลิกการห้ามการเดินทางเป็นหมู่คณะ โดยก่อนช่วงเกิดโรคระบาดของโควิด-19 นั้น การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในญี่ปุ่นทั้งหมด

การฟื้นตัวดังกล่าวช่วยชดเชยผลกระทบของการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของการบริโภคในญี่ปุ่นเอง หลังจากช่วงของการระบาดใหญ่โควิด-19 โดยชูลซ์กล่าวว่า “ปัญหาหลักสำหรับครึ่งปีหลังของญี่ปุ่นคือ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังชะลอตัวลง”

มาร์เซล ธีเลียนท์ จาก Capital Economics ระบุว่า รายละเอียดของข้อมูลดังกล่าวนี้ "ไม่น่าประทับใจเท่ากับพาดหัวข่าว" โดยเขาเน้นย้ำประเด็นต่างๆ รวมถึงการลดลงของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ปัจจุบันนี้ แรงงานญี่ปุ่นกำลังมีค่าจ้างของพวกเขาที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบ 28 ปี แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งเข้าใกล้อัตราค่าจ้างที่สูงที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษกลับลดลงอย่างชัดเจนเป็นเวลากว่า 1 ปี


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/business-66506126?fbclid=IwAR3XG0K2cHfvD5A6j_pOUvtzjs0OmEc5KqbQOsQuyT7VSNTt6nC5_QQN1kk