ไม่พบผลการค้นหา
พล.ท.ภราดร แนะรัฐบาลอย่ากลัวม็อบหากมีธรรมาภิบาล ชี้ความเป็นธรรมเท่านั้นคลี่คลายขัดแย้งได้ เชื่อรัฐบาลจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในไม่ช้า เพราะหมดข้ออ้างแล้ว

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิว แต่อาจจะไม่ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาล โดยเชื่อว่า รัฐบาลจะต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในไม่ช้า โดยเฉพาะเมื่อมีการยกเลิกเคอร์ฟิวแล้ว ยิ่งหมดข้ออ้างที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งไม่ควรใช้ตั้งแต่ต้น หรือควรใช้เพียงชั่วคราว เพราะมีกฎหมายปกติเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อ ที่สามารถใช้ควบคุมโควิด-19 ได้อยู่แล้ว และยังได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลังจากไทยรับมือกับโรคซาร์ส และไข้หวัดนก ทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

ที่สำคัญ ในยุคที่มีโรคซาร์ส และไข้หวัดนก ก็ไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะกฎหมายพิเศษนี้ออกแบบมาจัดการปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็ยังไม่ได้รับการปรับปรุง แต่รัฐบาลในขณะนั้นก็ยังสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ โดยอาศัย "ภาวะความเป็นผู้นำ" เป็นสำคัญ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เพราะทีมแพทย์ไทยมีประสิทธิภาพและประชาชนตระหนักรู้ ไม่ใช่เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้าง

พล.ท.ภราดร กล่าวถึงข้อกังขาต่างๆ ที่สังคมมีต่อรัฐบาลในการใช้อำนาจพิเศษ ว่ามีวัตถุประสงค์แอบแฝง ไม่ใช่เพื่อควบคุมโควิด-19 โดยเฉพาะการสกัดกั้นการแสดงออกของประชาชนและเอาผิดผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นความเคยชินของรัฐบาลสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ที่ปกครองด้วยความกลัวและกดทับประชาชนเอาไว้ แต่เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและปัญหาเรื่องความชอบธรรมอื่นๆต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ประชาชนอยู่นิ่งเฉยไม่ได้และกฎหมายพิเศษก็จะลดความศักดิ์สิทธิ์ลงหากใช้พร่ำเพรื่อเช่นที่ผ่านมา

พล.ท.ภราดร ฝากถึงรัฐบาลด้วยว่า ไม่ต้องกลัวประชาชนจะมาชุมนุม แล้วจะกระทบเสถียรภาพของรัฐบาลหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพียงแค่ต้องมีธรรมาภิบาล รัฐบาลก็มีความมั่นคง และแม้จะหวังธรรมาภิบาลจากรัฐบาลนี้ได้ยาก ต่างจากรัฐบาลประชาธิปไตย ที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาชนมากกว่าความมั่นคงของผู้มีอำนาจ

แต่ถึงที่สุดแล้ว ในสังคมประชาธิปไตยหลีกเลี่ยงการชุมนุมหรือฝ่ายเห็นต่างไม่ได้ และไทยมีปัญหาสะสมในสังคมการเมืองมานาน ซึ่งจะคลี่คลายไม่ให้เกิดความรุนแรง ก็คือ "ความยุติธรรม" แต่หากยังใช้กฎหมายเพื่อรักษาอำนาจและกดทับคนในสังคม ก็จะยิ่งต้องย้ำความไม่เป็นธรรม ที่คนส่วนใหญ่ตระหนักรู้และมีความอัดอั้นอยู่แล้วในปัจจุบัน