ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ กำลังพิจารณามาตรการภาษีสำหรับการนำเข้ารถยนต์จากประเทศไทย ตอบโต้กรณีไทยไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO หลังข้อพิพาทยืดเยื้อกว่า 10 ปี

จากกรณีข้อพิพาทคดีภาษีบุหรี่ระหว่างสองประเทศ ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี นายเซเฟอร์ริโน โรโดลโฟ ตัวแทนกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ฟิลิปปินส์ กลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมและนโยบายการค้า เผยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ว่า กรมการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ กำลังศึกษามาตรการตอบโต้วางแผนที่จะจำกัดปริมาณการนำเข้าหรือตั้งกำแพงภาษีสินค้ารถยนต์จากประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้ (2562)

"เราดำเนินการตามผลการตัดสินขององค์การการค้าโลก หรือ WTO และกำลังศึกษาแนวทางการตอบโต้ทางการค้าข้ามธุรกิจ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ WTO อนุญาตให้เราทำได้” โรโดลโฟ กล่าว

เขากล่าวเพิ่มเติมว่าโดยปกติแล้วประเทศที่ได้ผลกระทบจากข้อพิพาท จะเริ่มใช้มาตรการตอบโต้ในผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันได้อย่างเต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเทียบเท่ากับมูลค่าความเสียหายจากข้อพิพาทนั้น

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ควรได้รับการตอบโต้ทางการค้ากรณีที่ประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามพันธสัญญาที่มีกับ WTO มากที่สุดคือรถยนต์ ซึ่ง WTO กำหนดให้มีการตอบโต้ทางการค้าข้ามภาคอุตสาหกรรมได้

ในกรณีนี้พบว่ารถยนต์คือสินค้าที่ใช้มาตรการตอบโต้แล้วจะส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยมากที่สุด และการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าข้ามภาคอุตสาหกรรมก็เป็นสิ่งที่ WTO อนุญาตให้ทำได้

ทั้งนี้ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล พิกัด 8703 (passenger vehicles) และ รถยนต์เพื่อการขนส่งสินค้า (commercial vehicles) พิกัด 8707 เป็นสินค้าส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศฟิลิปปินส์ที่มีมูลค่าเป็นอันดับต้นๆ

จากข้อมูลกรมศุลกากร ปี 2561 ประเทศไทยส่งออกสินค้าพิกัด 8703 (passenger vehicles) คิดเป็น 52,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 15 ของสินค้าในพิกัด 8703 ในขณะที่รถยนต์เพื่อการค้า (commercial vehicles) พิกัด 8707 ส่งออกไปยังฟิลิปปินส์มูลค่า 22,000 ล้านบาท

นายเซเฟอร์ริโนกล่าวต่อว่า ฟิลิปปินส์ได้รับการตัดสินให้เป็นผู้ชนะถึงหลายครั้งในคดีข้อพิพาทกับประเทศไทยประเด็นการส่งออกบุหรี่ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง

ก่อนหน้านี้ ประเทศฟิลิปปินส์ได้ร้องขอให้คณะกรรมการระงับข้อพิพาทของ WTO จัดการประชุมกับประเทศไทยขึ้น เพื่อเจรจาเรื่องการปฏิบัติตามคำตัดสิน WTO กระบวนการดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศไทยแก้ไขข้อปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมายของ WTO

มาตรการหลักที่เป็นไปได้ของฟิลิปปินส์คือการจำกัดการนำเข้ารถยนต์ หรือการขึ้นภาษีรถยนต์ที่นำเข้าจากไทย

นายรามอน โรเปซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ กล่าวว่าเห็นชอบกับการใช้มาตรการภาษีมากกว่า

"การเก็บภาษีเป็นทางที่ผมสนใจกว่าอยู่แล้ว เพราะการจำกัดการนำเข้านั้นมีค่าเช่าทางเศรษฐกิจอยู่ อาจทำให้เกิดการคอร์รัปชัน ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่กลับส่งผลกระทบต่อราคาอยู่ดี ถ้าเป็นการเก็บภาษีจะมีมาตรการป้องกันที่ชัดเจนและก่อให้เกิดรายได้ด้วย" โรเปซกล่าว และว่าหากไทยไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินก็คงต้องใช้มาตรการตอบโต้

ข้อพิพาทนี้เกิดจากการที่ไทยชี้ว่าบุหรี่ยี่ห้อฟิลลิป มอร์ริสที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์นั้นสำแดงราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายจริงในช่วงปี 2544-2550 ทางด้านฟิลิปปินส์มองว่านี่เป็นการกีดกันการส่งออกบุหรี่อย่างไม่เป็นธรรมและได้เริ่มกระบวนการระงับข้อพิพาทเป็นครั้งแรกในปี 2551 โดยชี้ว่าไทยประเมินราคาศุลกากรสำหรับสินค้าบุหรี่นำเข้าจากบริษัทแห่งนี้ในฟิลิปปินส์ขัดต่อกฎหมาย WTO เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายศุลกากร

ทาง WTO ได้ตัดสินในปี 2553 ให้ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะ และไทยต้องปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการคิดภาษีนำเข้าบุหรี่ใหม่ ซึ่งทางไทยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ และจนถึงตอนนี้ได้แพ้คดีมาถึง 3 ครั้งแล้ว

ที่มา: Manila Bulletin / Manila Standard / Business World

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: