ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ข้อมูลสภาพภูมิอากาศบ่งชี้ว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียส และอาจไม่บรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงตามข้อตกลงปารีส

องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO และสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษตีพิมพ์รายงานการวิเคราะห์อุณหภูมิโลก ซึ่งระบุว่า มีโอกาสถึงร้อยละ 20 ที่อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1.5 องศาเซลเซียสในอีกไม่ถึง 1 ปีข้างหน้า และคาดการณ์ว่า อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียสในช่วงปี 2563 - 2567

รายงานฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์อากาศในอังกฤษ และอีก 9 ประเทศ รวมถึง ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และจีนด้วย โดยคำนวณทั้งตัวแปรทางธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อพยากรณ์อุณหภูมิ ปริมาณฝนตก และรูปแบบลมในช่วง 5 ปีข้างหน้า แต่ไม่ได้คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เปลี่ยนแปลง มลพิษทางอากาศที่อยู่ในรูปอนุภาค และผลจากการปิดเมืองทั่วโลกช่วงที่โควิด-19 ระบาด

รายงานนี้ยังคาดการณ์ว่าบริเวณขั้วโลกจะอุ่นขึ้นเร็วกว่าภูมิภาคอื่นในโลก และจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดพายุในมหาสมุทรอาร์กติกมากขึ้น และปีนี้ อากาศจะแห้งขึ้นในบางพื้นที่ เช่น ทวีปอเมริกาใต้ ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา และทวีปออสเตรเลีย

ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเมื่อปี 2558 ตั้งเป้าว่า ประเทศที่ร่วมลงนามจะรักษาอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 2 องศาเซลเซียส และจะป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากเดิมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้อุณหภูมิปีหนึ่งจะสูงเกินยุคก่อนอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียส แต่ไม่ได้หมายความว่าโลกไม่บรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส แต่แสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิโลกใกล้จะถึงระดับที่เกิดผลกระทบที่ไม่อาจจะแก้ไขให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็สูงขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรมมากกว่า 1 องศาเซลเซียสแล้ว และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ทำลายสถิติปีที่ร้อนที่สุด

เพตเทรี ทาลาส เลขาธิการ WMO กล่าวว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ความท้าทายใหญ่หลวงรออยู่ในการประชุมข้อตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ที่ตั้งเป้าไม่ให้อุณหภูมิโลกในศตวรรษนี้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส 

ทาลาสย้ำว่า การชะลอตัวของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ไม่สามารถทดแทนความร่วมมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีระยะชั่วชีวิตยาวนาน ดังนั้นการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ลดลงในปีนี้ไม่อาจนำไปสู่การลดลงของก๊าซเรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศ 

ทาลาสกล่าวด้วยว่า ขณะที่โควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤตสุขภาพและเศรษฐกิจในระดับนานาชาติความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอาจเป็นอันตรายกับคุณภาพชีวิตมนุษย์ ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจไปอีกหลายศตวรรษ รัฐบาลต่างๆ ควรใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฟื้นฟูประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าจะเติบโตในระยะข้างหน้ากลับมาดีขึ้นกว่าเดิม


ที่มา : The Guardian, BBC, UN