ไม่พบผลการค้นหา
ก่อนกัญชาจะเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย มันได้เดินทางยาวนาน ผ่านบทบาทหลากหลาย ถือเป็นพืชที่มีประวัติศาสตร์โลดโผนที่สุดชนิดหนึ่ง

ในวัยเด็กฉันมีญาติคนหนึ่ง "เสพกัญชา" เขาเคยบอกว่าอย่าใช้คำว่า "เสพ" มันฟังดูเหมือนทำอะไรไม่ดีอยู่ ให้ใช้คำว่า "ดูดดื่ม" น่ารักกว่ากันเยอะ แถมสื่อความรู้สึกระหว่างการสูบกัญชาได้ดีที่สุดด้วย

ทำไมเขาถึงดื่มด่ำอะไรขนาดนั้น คำถามนี้คงตอบได้ง่ายๆ ว่าเพราะกัญชาออกฤทธิ์สร้างความเคลิบเคลิ้มหฤหรรษ์ให้กับสมอง การันตีมาตั้งแต่ยุคบรรพกาล ทุกอารยธรรมหลักของโลก ตั้งแต่เมโสโปเตเมีย อียิปต์ กรีก ไปจนถึงอารยธรรมอินเดีย ล้วนมีเรื่องเล่าของกัญชาเข้าไปมีส่วนในตำนานต่างๆ แถมกัญชายังอยู่ในสภาวะเหนือมนุษย์ บางอารยธรรมเป็นสัญลักษณ์ของเทพ บ้างเป็นพืชที่เทพพึงใจ บ้างใช้กัญชาเป็นตัวเชื่อมโยงสื่อสารกับเทพ แน่นอนว่า "กัญชา" คงต้องมีคุณค่าในทัศนะคนโบราณจนต้องยกสถานะเทพๆ แบบนี้ให้

สำหรับในประเทศไทย ถ้าฉันเอาเรื่องญาติไปเล่าให้ตำรวจฟังก็คงโดนรวบไปแล้ว แต่กว่าที่กัญชาจะเป็นยาเสพติดประเภท 5 ผิดกฎหมายเหมือนอย่างทุกวันนี้ มันมีการเดินทางที่ยาวนาน ผ่านบทบาทหลากหลาย ถือเป็นพืชที่มีประวัติศาสตร์โลดโผนที่สุดชนิดหนึ่ง


โอสถครึ้มใจในยุคอดีตกาล

ว่ากันว่า คนใดได้ดูดดื่มกัญชา นอกจากนั่งยิ้มตาเยิ้มได้ทั้งวัน แค่เรื่องตลกฝืดๆ เช่น พัดลมส่ายหน้า ก็ยังขำท้องคัดท้องแข็งได้

ในวรรณคดีบ้านเราพูดถึงการหย่อนใจด้วยกัญชาอยู่เหมือนกัน เช่น "ระเด่นลันได" ของพระมหาเทพ (ทรัพย์) ก็พูดถึงขอทานลันไดที่เมากัญชาพับหลับไปหลังสีซอขอทานมาทั้งวัน หรือแม้แต่นางประแดะ อยู่บ้านสวยๆ ก็ "บรรจงหั่นกัญชาไว้ท่าผัว" เพราะผัวหรือนายประดู่ต้องออกไปทำงานเลี้ยงวัว

แต่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่บันทึกถึงฤทธิ์ของกัญชาเอาไว้มากที่สุดคนหนึ่งก็คือ "สุนทรภู่" โดยใน "นิราศเมืองแกลง" มีการผูกกลอนออกชื่อกัญชาถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกพูดถึงอาการ "ครึ้มอกครึ้มใจ" ความว่า

"หยุดตะพานย่านกลางบางปลาสร้อย

พุ่มกับน้อยสรวลสันต์ต่างหรรษา

นายแสงหายคลายโทโสที่โกรธา

ชักกัญชานั่งกริ่มยิ้มละไม"


ครั้งที่สองคือตอนที่เมากัญชามากแล้ว เริ่มไม่ไหวจะเคลียร์

"ทำซมเซอะเคอคะมาปะขา

แต่โดยเมากัญชาจนตาขวาง

แกไขหูสู้นิ่งไปตามทาง

ถึงพื้นล่างแลลาดล้วนหาดทราย

ต่างโหยหิวนิ่วหน้าสองขาแข็ง

ในคอแห้งหอบรนกระกนกระหาย

กลืนกระเดือกเกลือกกลิ้นกินน้ำลาย

เจียนจะตายเสียด้วยร้อนอ่อนกำลัง


กัญชายาวิเศษ

ในสมัยกรุงศรีฯ ราชทูตฝรั่งเศสลาลูแบร์ ได้บันทึกถึงอุปกรณ์สูบยาของแขกมัวร์ที่ชาวสยามนิยมใช้ เรียกว่า "มอระกู่" เป็นที่สันนิษฐานว่าอาจถูกใช้กับกัญชาอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างนั้น กัญชาก็ไม่ได้ใช้เพื่อความเพลิดเพลินจำเริญใจอย่างเดียว เพราะยังพบหลักฐานการใช้เป็นยาในตำรับยาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือที่เรียกว่า "โอสถพระนารายณ์" นั่นเอง

มอระกู่ ในบันทึกลา ลูแบร์

ภาพ: มอระกู่ ในบันทึกลา ลูแบร์


ในตำราโอสถพระนารายณ์ พบว่ามีการใช้กัญชาในตำรับยา 2 ตำรับ คือ "ยาทิพเกศ" ใช้ใบกัญชา 16 ส่วน ผสมฝิ่น การบูร พิมเสน กระวาน ฯลฯ โดยระบุให้ "กินพอสมควร" แก้อาการกินไม่ได้นอนไม่หลับ ตกเลือด ส่วนอีกตำรับคือ "ยาสุขไสยาสน์" ชื่อบอกตรงตัวว่าเป็นยาที่กินเพื่อให้นอนอย่างเป็นสุข สูตรนี้ใช้ใบกัญชา 12 ส่วน ผสมใบสะเดา การบูร สหัสคุณเทศ สมุนแว้ง เทียนดำ โกฐกระดูก ลูกจันทน์ ตำรวมกันเป็นผงละลายน้ำผึ้ง

นอกจากนี้ กัญชายังปรากฎในตำรายาสืบต่อๆ มาอีกหลายเล่ม เช่น ยาโทสันทะฆาฏ และยาธรณีสันทะฆาฏ แก้ลมกษัย จากตำรายาเกร็ด ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, ยาสุขไสยาสน์ ตำรับยาของหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์) ขณะที่ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตำราหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 มียาที่มีส่วนผสมของกัญชาถึง 11 ตำรับ ครอบคลุมตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร ไปจนถึงอาการปวดเมื่อย


กัญชาไม่ใช่สมบัติผู้ดี

อย่างที่เห็นข้างบนว่า บางตำราระบุชัดให้กินยาที่ผสมกัญชาแบบพอสมควร นั่นก็เป็นเพราะคนโบราณเขารู้ดีถึง "ข้อเสีย" ของการใช้กัญชามากเกินไป

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เอกสารวชิรญาณวิเศษ มีเรื่องแต่งที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับคนติดกัญชาในยุคนั้นเหมือนกัน โดยเล่าถึงมหาดเล็กวิเศษนายหนึ่ง ติดกัญชาจนเข้าวังก็ต้องมวนบุหรี่ยัดไส้ไปด้วย ในยุคนั้นมีคำแสลงเก๋ๆ เรียกบุหรี่สอดไส้แบบนี้ว่า "เหน็บกริช" แต่ถึงอย่างนั้นก็ "มีความอายมากปิดบังไม่ให้ใครรู้ว่าสูบกัญชาเลย เมื่อเวลาจะสูบบุหรี่ก็ไปเที่ยวส้อน (ซ่อน) สูบในที่ไกลคน เพราะกลัวเขาจะได้กลิ่น..."

นั่นแสดงว่าการติดกัญชาไม่ได้น่าภาคภูมิใจ และไม่ใช่เรื่องดีนัก สอดคล้องกับในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ "พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์" (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล ต่อมาเป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี) ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ "สมบัติของผู้ดี" ขึ้น (ต่อมาเรียกสมบัติผู้ดี) แยกย่อยเป็นหมวดกายจริยา วจีจริยา มโนจริยา โดยในหมวดกายจริยาข้อหนึ่งบอกว่าจะเป็นผู้ดี "ย่อมไม่มั่วสุมกับสิ่งอันเลวทราม เช่น กัญชา ยาฝิ่น"


สิ้นสุดยุคเคลิ้มเสรี

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า กัญชาเสพติดได้จริงๆ และเสพเยอะๆ ก็สร้างความเสื่อมโทรมแก่ร่างกาย ลุเข้าสมัยรัชกาลที่ 6 วันชื่นคืนสุขระหว่างชาวสยามและกัญชาจึงจบลง โดยเริ่มแรกนั้น มีการกำหนด "พระราชบัญญัติยาเสพย์ติดให้โทษ พระพุทธศักราช 2465" ออกใช้เป็นครั้งแรก เน้นหนักที่การป้องปราม "ฝิ่น" จากนั้นอีก 3 ปีให้หลัง "เจ้าพระยายมราช" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นชอบคำแนะนำของอธิบดีกรมสาธารณสุข ให้เพิ่มชนิดยาเสพติดให้โทษในบัญชี โดยระบุว่า "ยาที่ปรุงด้วยกันชา (กัญชา) ก็ดี ยาผสมฤาของปรุงใดๆ ที่มีกันชาก็ดี กับทั้งยางกันชาแท้ฤาที่ได้ปรุงปนกับวัตถุใดๆ เหล่านี้ ให้นับว่าเปนยาเสพย์ติดให้โทษทั้งสิ้น"

ด้วยเหตุนี้นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2468 กัญชาจึงเป็นของผิดกฎหมาย

จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 8 จึงมีการออก "พระราชบัญญัติกันชา พุทธศักราช 2477" ด้วยมีเหตุผลว่า "สมควรจะมีการควบคุมกันชา ซึ่งให้โทษร้ายแรงแก่ผู้สูบ" การเสพ ซื้อ ขายกัญชา หรือแม้แต่จำหน่าย "บ้อง" มีโทษจำคุกตั้งแต่ไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี ปรับตั้งแต่ 200-500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กฎหมายก็ยังกรุณา บอกว่าใครปลูก หรือซื้อหามาครอบครองก่อนประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ หลวงท่านให้จัดการกัญชาให้หมดภายใน 1 ปี หลังจากนี้ใครมีในครอบครอง ติดคุกสถานเดียว

"กฎเสนาบดีเรื่องกันชา" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ภาพ: "กฎเสนาบดีเรื่องกันชา" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา


กัญชากับยุคหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ

จากที่เล่ามาทั้งหมดจะเห็นว่ากัญชาผิดกฎหมายมาได้ 93 ปีแล้ว แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าผลการศึกษามากมาย พบว่ากัญชาสามารถบำบัดอาการบางอย่าง หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม การปลดล็อคกัญชาจึงถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงปีหลังๆ การนำกัญชามาใช้ในแง่สุขภาพเป็นเรื่องที่น่าสนใจก็จริง แต่สิ่งสำคัญจากนี้ก็น่าจะเป็นการควบคุมให้ถูกใช้ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง นี่จึงจะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกัญชา


เผื่ออยากอ่านต่อ

ประมวลตำรับยาไทย, นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2554.

จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, (พิมพ์ครั้งที่ 2), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548.

มหามนตรี (ทรัพย์), พระ, ระเด่นลันได-พระมะเหลเถไถ, กรุงเทพฯ : ไพลิน, 2539.

"ปัญหาขัดข้องที่ 61" ใน วชิรญาณวิเศษ เล่ม 5 แผ่น 11 วัน อาทิตย์ที่ 29 เดือน ธันวาคม รัตนโกสินทรศก 108.

กฎเสนาบดีเรื่องกันชา, 21 กุมภาพันธ์ 2468, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 42, หน้าที่ 346.

พระราชบัญญัติกันชา พุทธศักราช 2477, 5 พฤษภาคม 2478, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 52 หน้าที่ 339.

พระราชบัญญัติยาเสพย์ติดให้โทษ พระพุทธศักราช 2465, 17 ธันวาคม 2465, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 39 หน้าที่ 428.

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog