ไม่พบผลการค้นหา
เสียงสะท้อนหลายแง่มุมหลังเหตุการณ์มอเตอร์ไซค์ฝ่าฝืนกฎหมายขับขี่บนทางเท้าจนกลายเป็นเหตุให้เด็กนักเรียนหญิงได้รับบาดเจ็บ

ภาพเด็กนักเรียนหญิงถูกรถมอเตอร์ไซค์ชนขณะเดินบนทางเท้าย่านลาดพร้าว กลายเป็นเรื่องสะเทือนใจและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วสังคมออนไลน์ แม้ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครจะมีมาตรการเพิ่มโทษของการขับขี่บนทางเท้าจากเดิมเริ่มต้นที่ 500 บาท เป็น 1,000 บาท พร้อมกับมีโครงการให้ประชาชนช่วยสอดส่องผู้ขับรถบนทางเท้าอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนยังมีคนไม่ตระหนักและกล้ากระทำผิดกฎหมายให้เห็นอยู่เสมอ 

"ขาดสามัญสำนึกครับ ทางแก้คือปลูกฝังสามัญสำนึก" แอดมินเพจสิทธิคนเดินเท้ากล่าวถึงต้นเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับวอยซ์ออนไลน์

เขาบอกต่อว่า หากผู้ขับขี่ให้ความสำคัญกับความเร่งรีบของตัวเองมากกว่าชีวิตผู้อื่น มาตรการอะไรก็ไม่ได้ผลทั้งนั้น ที่สำคัญนโยบายให้รางวัลนำจับแก่ผู้แจ้งเบาะแสที่ผ่านมาเหมือนเป็นนโยบายในลักษณะดึงดูดความสนใจจากประชาชนมากกว่าที่จะเป็นมาตรการที่เข้มงวด และมีเจ้าหน้าที่ติดตามบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

เพจสิทธิคนเดินเท้า เห็นว่า การรณรงค์สร้างจิตสำนึกนั้นต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงมีกฎหมายดูแลอย่างเข้มงวดควบคู่ แม้จะมีข้อจำกัดในแง่ของกำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งมีไม่มากพอจะดูแลได้ตลอดเวลา 

"สร้างความรับรู้จากทุกภาคส่วน ทั้งสำนักงานเขต ตำรวจจราจร เจ้าของกิจการ หรืออาคารที่ตั้งอยู่ริมทางเท้า ต้องสำรวจดูว่า สำนักงานอาคารของตัวเองมีส่วนที่ทำให้มอเตอร์ไซค์ต้องขึ้นมาวิ่งบนทางเท้าหรือเปล่า ส่วนประชาชนอย่างเราช่วยกันแชร์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปในโซเชียลมีเดีย ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ถ้ามันทำให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ยั้งใจคิดได้ ก็เท่ากับเราได้สร้างความตระหนัก หรือความรับรู้ให้กับผู้ขับขี่แล้ว" เพจดังระบุ 

เพจดังอย่าง 'เฮ้ยนี่มันฟุตบาทไทยแลนด์' บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า สามัญสำนึกของประชาชนไทยที่เริ่มแย่ลงจนคิดว่าการกระทำความผิดเป็นเรื่องปกติไปแล้ว 

"ผมเป็นคนหนึ่งที่ขี่มอเตอร์ไซค์นะ เห็นการขี่ขึ้นทางเท้าเป็นเรื่องปกติ เหมือนเวลารถติด มอเตอร์ไซค์เขาจะหาทางไปให้ได้ จนไม่นึกถึงคนเดินเท้า 

แล้วอีกอย่างวินมอเตอร์ไซค์เขาอาศัยทางเท้าในการจอดรอคิว เพราะฉะนั้นเขาจะขี่บนทางเท้าจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว" 

แอดมินเห็นว่าในเชิงกฎหมาย หน่วยงานรัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาจริงจัง ส่งผลให้ประชาชนไม่เกรงกลัว 

"คนไทยยังห่างไกลที่จะตระหนัก รู้จักสามัญสำนึกด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจึงสำคัญมาก" เขาบอกและเสนอว่า กทม.ควรหยิบปัญหาดังกล่าวขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วน โดยเบื้องต้นจัดทำอุปกรณ์กั้นมอเตอร์ไซค์ทุุกระยะ ทุกเส้นทาง พร้อมกับติดตั้งกล้องวงจรปิด หากมีผู้ฝ่าฝืนจะถูกบันทึกภาพและส่งใบเรียกค่าปรับไปที่บ้าน 

ขณะที่เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย บอกว่า หลายพื้นที่ในกทม.มักมีกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าให้เห็นเสมอ สาเหตุนั้นแตกต่างกันออกไป เช่น รถติดขัด ไม่ต้องการย้อนไปกลับรถในระยะทางไกล ซึ่งบางพื้นที่ขี่บนทางเท้ากันมายาวนาน จนกลายเป็นเรื่องปกติ 

“ไม่ควรทำ กฎหมายก็มีชัดเจน เสียเวลาในการกลับรถสักหน่อยแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรกระทำ ขณะที่เจ้าหน้าที่เองก็ควรเอาจริงเอาจังกับคนละเมิดกฎหมาย”




ขณะที่ รศ.ดร.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เห็นว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทางปฏิบัติอาศัยเพียงแค่ความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียวไม่พอ เนื่องจากมีข้อจำกัดในแง่ของกำลังพล จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ด้วย 

“ต้องเป็นวาระสำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องการความร่วมมือจากคนในพื้นที่ ที่ต้องไม่ยอมและออกมาบอกว่า ตรงนี้คุณขี่ไม่ได้นะ ห้ามนะ มันอันตราย มันผิดกฎหมาย”

ทั้งนี้การขับขี่บนทางเท้าจนทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บนั้นมีความผิดตามกฎหมายหลายมาตรา ได้แก่ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 โทษสูงสุด จําคุก ไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

หากได้รับบาดเจ็บสาหัส ผิดตาม ป.อาญา มาตรา 300 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มีความผิดข้อหา ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โทษสูงสุด ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ข้อมูลจาก กทม. เมื่อปลายปี 2560 พบว่า แอปพลิเคชันไลน์สำหรับการแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พบว่า ข้อหาที่ถูกแจ้งเบาะแสมากที่สุด ร้อยละ 90 คือ รถมอเตอร์ไซค์ขับรถบนทางเท้า อีกร้อยละ 10 เป็นข้อหาการขายของบนทางเท้าและขายในจุดห้ามขาย เช่น ป้ายรถเมล์ ทางเท้าที่คับแคบ 

ผู้ที่ต้องการร่วมแจ้งเบาะแสสามารถโทรศัพท์ผ่านสายด่วนสำนักเทศกิจ โทร 0 2465 6644 หรือ เพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิชันไลน์ พิมพ์ไอดี @ebn6703w


ภาพจากสมาชิกทวิตเตอร์ @EmaEmika