ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกรัฐมนตรี บอกเสียบบัตรแทนกันมีความผิด แต่อาจไม่กระทบกับ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขั้นร้ายแรง คาดพอมีทางออก เนื่องจากเป็นกฎหมายพิเศษ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการเสียบบัตรแทนกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของ ส.ส. โดยระบุว่า ที่มีการไปแชร์กันว่าตนบอกว่าการเสียบบัตรแทนกันเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่มีผลอะไร ตนไม่เคยพูด ตรงกันข้ามตนบอกว่าเรื่องนี้แยกเป็น 2 เรื่อง คือ 

1.เรื่องเสียบบัตรไม่ว่าจะแทนหรือไม่แทน เป็นความเสียหายร้ายแรง มีความผิดและบทลงโทษ แต่ที่บอกว่าจะไม่เกิดผลกระทบน่ากลัวรุนแรง ไม่ถึงขั้นวิบัติ เป็นเรื่องของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ 2

การที่จะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมี 2 อย่างคือ 1.เนื้อหา กับ 2.กระบวนการ กรณีนี้เป็นเรื่องกระบวนการ ซึ่งเมื่อเป็นเรื่องกระบวนการก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ชอบหรือไม่ ถ้าไม่จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป 

เสียบบัตรแทนกันมีความผิด 

กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ ปี 2556 และ 2557 ข้อเท็จจริงตอนนั้นเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ซึ่งตนยังไม่ได้บอกว่าเป็นคนละอย่างกัน แต่วันนี้ดูท่าจะออกมาแล้วว่ามีคนเอาบัตรไปเสียบและลงมติเห็นชอบ

ขอยืนยันว่า ประเด็นเรื่องเสียบบัตรแทนกันมีความผิด มีโทษร้ายแรง เสียหาย เสียหายทั้งต่อภาพพจน์ของสภาด้วย แต่ในส่วนผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ. ไม่น่าจะถึงขั้นร้ายแรงอะไร ส่วนจะเป็นอย่างไร อาจเป็นไปได้ 2-3 ทางด้วยกัน 

แจงความแตกต่างของกฎหมาย

รองนายกฯ กล่าวว่า กระบวนการไม่ชอบ จะทำให้มติอันนั้นไม่ชอบแต่บังเอิญในกรณีปี 2556 คือร่างรัฐธรรมนูญและ ปี 2557 คือ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เป็นกระบวนการที่เมื่อมติไม่ชอบก็เท่ากับไม่มีมติก็จบ 

แต่กรณีกฎหมายงบประมาณแปลกและต่างกว่ากฎหมายอื่น เพราะมีบทบัญญัติ มาตรา 143 ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษต่างหาก ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีการนำมาตรานี้มาใช้ได้หรือไม่อย่างไร ตนเห็นคำร้อง ส.ส.ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญผ่านสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการโยงไปถึง มาตรา 143 ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นผลดีแล้ว ให้ศาลมีอำนาจวินิจฉัยในส่วนนี้ด้วย

"ความแตกต่างคือ กฎหมายอื่นถ้ามติไม่ชอบ ร่างก็จะไม่ชอบ แต่บังเอิญกรณีกฎหมายงบประมาณ มาตรา 143 บอกว่าถ้าหากว่าสภาพิจารณาไม่เสร็จ ภายใน 105 วันเกิดอะไรขึ้น วุฒิสภาพิจารณาไม่เสร็จใน 20 วันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งลักษณะแบบนี้ เงื่อนเวลาแบบนี้ ไม่มีอยู่ในกรณีกฎหมายอื่น แม้แต่กระทั่งการพิจารณารัฐธรรมนูญก็ไม่มี เพราะงบประมาณเป็นเรื่องใหญ่ที่เขาเกรงว่าถ้าช้าแล้วไม่ทันจะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อประเทศ"

นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อจะยื่นคำร้องต่อศาลแล้วก็เป็นการดีที่ ส.ส.ที่ยื่นได้รวมประเด็นเหล่านี้ไป ตอนนี้เป็นไปได้หมดทั้ง 1.กฎหมายตกทั้งฉบับ 2.เสียไปเฉพาะมติอันนั้น 3.เสียไปเฉพาะหักคะแนนที่เสียบบัตรแทนกัน หรืออาจจะมีข้อ 4-5-6 

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ระบุกำหนดเวลาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไว้ 105 วัน ถ้าพิจารณาไม่ทันให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว และให้เสนอให้วุฒิสภา พิจารณา ซึ่งถ้าไม่ทัน 20 วันตามที่กฎหมายกำหนด ก็ให้ถือว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ