ไม่พบผลการค้นหา
กระแส ‘แด๊ดดี้-สเตย์-โฮม’ หรือการเป็นพ่อบ้านเลี้ยงลูกเต็มตัว เป็นหนึ่งเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเชิงค่านิยม และการปฏิบัติจริง โดยเฉพาะกับประเทศพัฒนาแล้ว

ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หนึ่งในภาพประทับใจกลางเวทีประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) กรุงนิวยอร์ก คือการที่สามีของ จาซินตา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงแดนกีวี อุ้มลูกน้อยวัย 3 เดือนไว้ในอ้อมกอดระหว่างการประชุม ไม่ใกล้ไม่ไกลจากภรรยา ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำประเทศ อาร์เดิร์นบอกกับสื่ออย่างภาคภูมิใจว่า “สามีของเธอเดินทางติดตามมาร่วมการประชุมครั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่พี่เลี้ยงหลักให้กับลูกสาว”

000_19E3JT.jpg
  • จาซินตา อาร์เดิร์น และครอบครัวในเวทีประชุมยูเอ็นจีเอ

อันที่จริงแล้ว ก่อนหน้านี้เซเลบริตี้ระดับโลกหลายคนก็เคยสละหน้าที่การงาน หรือช่วงชีวิตหนึ่งออกมาเป็นพ่อบ้านเลี้ยงลูก ไม่ว่าจะเป็น จอห์น เลนนอน ตำนานจากวงเดอะ บีทเทิลส์ (The Beatles) ที่ช่วงปี 1963 เขาเคยหยุดทำเพลงไปพักหนึ่ง เพื่อมาดูแลลูกชายคนโต จูเลียน ซึ่งเกิดกับภรรยาคนแรก และต่อมาในช่วงปี 1975-1980 เลนนอนก็ต้องหยุดทำงานอีกครั้ง เพื่อมาดูแลฌอน ลูกคนที่เกิดกับภรรยา โยโกะ โอโน โดยเขาบอกกับโอโนว่า “ผมจะเลี้ยงลูกเองโยโกะ คุณไปทำงานของคุณเถอะ”

ยุคปัจจุบัน เดวิด เบคแฮม สตาร์วงการลูกหนังจากลอนดอน ก็ประกาศเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพแล้วเมื่อปี 2013 และปล่อยให้วิคตอเรียผู้เป็นภรรยา รันวงการแฟชั่นตามความฝันของเธอ นับจากนั้นมา หลายคนเริ่มเห็นภาพเบคแฮมดูแลลูกๆ ไปส่งที่โรงเรียนตอนเช้าจนกลายเป็นชีวิตประจำวัน และสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ภาพเบคแฮมกับลันช์บ็อกซ์ของลูกสาว กลายเป็นภาพชินตาสาธารณชนเสียแล้ว

000_Was8903587.jpg
  • เดวิด เบคแฮม พาลูกๆ มาชมแฟชั่นโชว์ของภรรยา

การที่คุณพ่อหลายๆ คนยอมสละชีวิตการงานช่วงหนึ่ง หรือตลอดไป เพื่อมาช่วยดูแลลูกร่วมกับคุณแม่ หรือดูแลแทนคุณแม่ เป็นเพราะต้องการให้ลูกเติบโตโดยใกล้ชิดพ่อแม่มากที่สุด ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกลุ่มคนดังเท่านั้น แต่ปัจจุบันนโยบายของหลายๆ ประเทศก็ส่งเสริมให้คุณพ่อมีเวลาร่วมกับลูกๆ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังคงได้รับเงินเดือนเกือบเต็มจำนวน ขณะเดียวกันจำนวนคุณแม่ที่สามารถหา ‘เงิน’ เข้าบ้านได้เท่ากับ หรือมากกว่าสามีก็เพิ่มมากขึ้น

หลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศโซนนอร์ดิก ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการกินดีอยู่ดี เช่น สวีเดน เป็นประเทศที่มีคุณพ่อฟูลไทมส์ หรือคุณพ่อเลี้ยงลูกเต็มเวลาจำนวนมากกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังคลอด รัฐบาลมีนโยบายว่า พ่อแม่มือใหม่สามารถลางานร่วมกันหลังการกำเนิดบุตรได้มากถึง 480 วัน หรือ 16 เดือน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินเดือน 80 เปอร์เซ็นต์ ให้ในช่วง 6 เดือนหลังคลอด พ่อแม่จะแบ่งกันลาได้คนละ 3 เดือน ก่อนที่หลังจากนั้น 10 เดือน แบ่งกันลาเลี้ยงลูกได้ตามการความพอใจของแต่ละครอบครัว เพราะรัฐบาลเชื่อว่า การได้สิทธิ์ลาหยุดของคนเป็นพ่อส่งเสริม ‘ทั้งครอบครัว’ ให้แฮปปี้มากยิ่งขึ้น เพราะตัวคุณแม่เองก็มีรายได้เพิ่มขึ้น และเบาแรงไปเยอะ 

000_Par1693896.jpg000_Par6215800.jpg

นโยบายดังกล่าวมีชื่อเรียกทั่วไปในสวีเดนว่า ‘แด๊ดดี้ ลีฟ’ (Daddy Leave) ซึ่งคุณพ่อมือใหม่กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ เลือกลาไปช่วยภรรยาดูแลบุตรแรกเกิด และไม่ผลักให้เรื่องการดูแลลูกเล็กๆ น้อยๆ เป็นหน้าที่ของแม่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป

คล้ายกันในฟินแลนด์ ผลสำรวจจากโออีซีดีบอกว่า คุณพ่อส่วนใหญ่จากประชากรจำนวน 5.5 ล้านคนในประเทศ ใช้เวลากับลูกๆ ในวัยเรียนมากกว่าคุณแม่ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีสวัสดิการการทำงานดีมากสำหรับผู้หญิง ทั้งในเรื่องค่าจ้างที่เท่าเทียม เรื่องวันลาคลอด และอื่นๆ

นอกจากนี้ คุณพ่อเองก็มีวันลาสำหรับช่วงคลอดด้วยถึง 9 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือภรรยาดูแลลูกได้ โดยคุณพ่อจะได้รับ 70 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนระหว่างการลา

000_Par6671082.jpg

สหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนคุณพ่อฟูลไทมส์เพิ่มมากขึ้นเหมือนกัน ผลวิจัยจากซิลโลว รีเสิร์ช (Zillow Research) หนึ่งในสถาบันวิจัยของสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐ ระบุว่า ในปี 2017 คุณพ่อฟูลไทมส์ในสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งมากถึง 20.2 เปอร์เซ็นต์ โดยพ่อฟูลไทมส์มีจำนวนมากเกือบ 2 ล้านคน ขณะที่คุณแม่ฟูลไทมส์มีจำนวน 7.9 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม มิติการเพิ่มขึ้นของแด๊ดดี้-สเตย์-โฮม ในสหรัฐฯ มีความแตกต่างออกไปจากประเทศข้างต้น หนึ่งในสาเหตุสำคัญเป็นผลพวงมาจากการถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ครั้งสำคัญที่หนักหน่วงในช่วงปี 2009 ทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานชายเป็นหลัก อาทิ งานก่อสร้าง หรืออุตสาหกรรมการผลิต

ข้อมูลจากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า มีประชากรชายสูญเสียงานในช่วงการถดถอยทางเศรษฐกิจมากถึง 6 ล้านคน ขณะที่ผู้หญิงตกงานราว 2.7 ล้านคน ซึ่งน่าจะเป็นกรณีที่ผลักให้คุณพ่อต้องรับบทบาทเลี้ยงดูบุตรเต็มเวลามากขึ้น

แต่ทั้งนี้ การสำรวจก็ระบุด้วยว่า ปัจจุบันผู้ชายอเมริกันที่ยอมเสียสละอาชีพการงาน เพื่ออยู่บ้านดูแลบุตรจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากความสมัครใจ แต่ส่วนมากครอบครัวที่พ่อแม่สามารถทำหน้าที่เลี้ยงลูกแบบเต็มเวลาได้มักเป็นครอบครัวที่มีรายได้ระดับสูง และอยู่ในพื้นที่ชุมชนร่ำรวย แต่ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ระดับปานกลาง ที่จะใช้ชีวิตในรูปแบบเดียวกัน 

On Being
198Article
0Video
0Blog