ไม่พบผลการค้นหา
แม้กลุ่มประชาชนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในจังหวัดสงขลาจะได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ผู้สื่อข่าวอิสระด้านสิ่งแวดล้อมถูกจับกุมเพิ่มอีก 1 ราย จากการรายงานข่าวชาวบ้านรณรงค์ปิดเหมืองใน จ.เลยเพื่อฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2558

นายจามร ศรเพชรนรินทร์ สื่อภาคพลเมืองด้านสิ่งแวดล้อม ถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) พุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่เวลาประมาณ 11.00 น. วันนี้ (29 พฤศจิกายน) โดยเจ้าหน้าที่ ตม.ระบุว่า เป็นการจับกุมตามหมายจับในคดีที่นายจามรถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินบ่อแร่ทองแดงภูซำป่าบอน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 สืบเนื่องจากการเข้าไปรายงานข่าวชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เข้าไปปักธงและใช้สีเขียนข้อความว่า 'ปิดเหมืองฟื้นฟู' ทำให้กลุ่มชาวบ้านถูกบริษัทเหมืองทองทุ่งคำแจ้งจับ โดยระบุว่าเป็นการร่วมกันบุกรุกเข้าไปรบกวนอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น 

จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้อง พบว่านายจามรถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี และจะถูกกักตัวในห้องขัง 1 คืน เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรวังสะพุงมารับตัวไปดำเนินคดีเช้าวันพรุ่งนี้ (30 พฤศจิกายน) โดยมีทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชนติดตามให้ความช่วยเหลือแก่นายจามรอยู่

ก่อนหน้านี้ บริษัทเหมืองทองทุ่งคำ ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองทองคำในพื้นที่จังหวัดเลย ได้ยื่นฟ้องชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด สืบเนื่องจากการบุกเข้าไปในที่ดินภูซำป่าบอนเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2558 อันเป็นการรณรงค์ให้มีการปิดเหมืองและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในบริเวณดังกล่าว แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ศาลจังหวัดเลยได้พิพากษายกฟ้อง โดยระบุว่าบริษัทไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ภูซำป่าบอน แต่กรณีของนายจามร ผู้เกี่ยวข้องได้เปิดเผยกับวอยซ์ทีวีว่าเขาไม่เคยได้รับเอกสารเตือนใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว จนกระทั่งถูกควบคุมตัวที่ด่าน ตม.พุน้ำร้อนในวันนี้ 

การจับกุมนายจามรเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่กลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในจังหวัดสงขลาเพิ่งได้รับการปล่อยตัว หลังจากที่แกนนำ 16 คนถูกนำตัวไปตั้งข้อหากีดขวางจราจรและขัดขวาง-ทำร้ายเจ้าหน้าที่เมื่อวานนี้ (28 พฤศจิกายน) แต่กรณีที่เกิดขึ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR)

แถลงการณ์ของ OHCHR ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา OHCHR ได้รับรายงานหลายครั้งว่าชาวบ้านในชุมชนและนักกิจกรรมซึ่งประท้วงโครงการพัฒนาอย่างสันติถูกข่มขู่จากทางการและบริษัทผู้พัฒนาโครงการ ขณะที่สมาชิกในชุมชนและนักกิจกรรมในประเทศไทยจำนวนมากถูกปลิดชีวิต ทำร้ายร่างกาย และตั้งข้อหาทางอาญาว่าทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง รวมถึงยังถูกขัดขวางไม่ให้ชุมนุมอย่างสันติ หรือเข้าร่วมในการอภิปรายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาต่างๆ 

OHCHR เตือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนตรงข้ามกับพันธสัญญาที่ประเทศไทยอ้างไว้ในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งซินเธีย เวลิโก ตัวแทน OHCHR ยืนยันอย่างชัดเจนว่า

“การประท้วงอย่างสันติเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยเพื่อก่อให้เกิดสำนึกรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของสาธารณชน"

"เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องดำเนินขั้นตอนสำคัญเพื่อให้เกิดการหารือกับสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ บนพื้นฐานของความสุจริตใจ และเพื่อให้ได้รับความยินยอมที่เป็นอิสระบนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลเพียงพอและล่วงหน้าจากชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาด้วยวิธีที่มีความหมาย ตามที่รัฐธรรมนูญไทยได้รับประกันไว้” 

รายงานโดย: ตติกานต์ เดชชพงศ

ภาพโดย: จามร ศรเพชรนรินทร์