ไม่พบผลการค้นหา
กองกำลังฝ่ายสนับสนุนอิหร่านที่ประจำการอยู่ในซีเรีย ยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอลเช้าวันนี้ (10 พ.ค.) และอิสราเอลตอบโต้กลับอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองซีเรียปี 2554 เป็นต้นมา

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านเพื่อต่อสู้ขับไล่นายบาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย ยิงจรวดโจมตีที่ราบสูงโกลัน ซึ่งอยู่ในความควบคุมของอิสราเอล ช่วงเช้าตรู่วันนี้ (10 พ.ค.) และนักวิเคราะห์ในสื่อต่างชาติจำนวนมากระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากที่สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงอิหร่าน ซึ่งเป็นการเจรจาระหว่าง 7 ประเทศ เพื่อยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน และเป็นการเจรจาที่เริ่มโดยนายบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นายอะวิกดอร์ ลีเบอร์แมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอิสราเอล ระบุว่ากองทัพอิสราเอลใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธ สามารถยิงสกัดจรวดโจมตีของฝ่ายอิหร่านได้เกือบทั้งหมด และจรวดที่เหลือก็ยิงไม่ถึงเป้าหมาย พร้อมย้ำว่าอิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศในซีเรียเพื่อถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านเช่นกัน และเป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียซึ่งสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย ออกแถลงการณ์ว่าทหารซีเรียได้ยิงสกัดขีปนาวุธที่ยิงมาจากฝั่งอิสราเอลได้เกือบทั้งหมด และแม้ว่าเครื่องบินขับไล่ของซีเรียจะไม่สามารถยิงเครื่องบินอิสราเอลตก แต่ก็สามารถขับไล่ให้พ้นไปจากพื้นที่ควบคุมของกองทัพซีเรียได้

เผาธงชาติ-สหรัฐฯ-อิสราเอล-อิหร่าน

(ผู้ประท้วงเผาธงชาติสหรัฐฯ และอิสราเอลหลังจากนายทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงอิหร่าน)

อย่างไรก็ตาม นายลีเบอร์แมนยืนยันว่า อิสราเอลไม่มีความพยายามที่จะยกระดับปฏิบัติการทางทหารในซีเรีย แต่คำแถลงดังกล่าวสวนทางกับสิ่งที่นายซาชี ฮาเน็กบี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ เพราะเขากล่่าวว่านายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กำลังพิจารณายกระดับมาตรการทางทหารกับอิหร่านและซีเรียอยู่ในขณะนี้

อิหร่านจี้สหภาพยุโรปแสดงจุดยืน

ส่วนนายฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน โทรศัพท์ถึงนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีข้อตกลงอิหร่านเมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) โดยนายโรฮานีเรียกร้องให้ทั้งฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป (EU) แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะเดินหน้าดำเนินการตามข้อตกลงอิหร่านต่อไปหลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวอย่างเป็นทางการหรือไม่

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าก่อนหน้านี้นายมาครง รวมถึงผู้นำประเท���อื่นๆ ที่เป็นภาคีในข้อตกลงอิหร่าน ต่างก็พยายามเรียกร้องให้นายทรัมป์ยึดมั่นและดำเนินการตามเงื่อนไขในข้อตกลงต่อไป เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันมาตั้งแต่ก่อนนายทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่ง แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะนายทรัมป์ยืนยันที่จะทำตามนโยบายถอนตัวซึ่งเคยหาเสียงเอาไว้เมื่อปี 2559

ด้านนายฌอง-อีฟส์ เลอ ดรียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสยืนยันว่า "ข้อตกลงยังไม่สิ้นสุด" เพราะแม้สหรัฐฯ จะถอนตัวไป แต่ประเทศอื่นๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ รัสเซีย และจีน ยังจะเดินหน้าต่อไปเพื่อทำตามเงื่อนไขในข้อตกลงอิหร่าน 

สงครามตัวแทน-ภาวะตึงเครียดตะวันออกกลาง

ก่อนหน้านี้ทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และอิสราเอลได้กล่าวหาว่าอิหร่านไม่ยอมทำตามข้อตกลงที่ระบุว่าอิหร่านจะต้องยุติการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านระบุว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายไม่รักษาสัญญา และพยายามกล่าวหากันด้วยข้อมูลที่ไม่จริง ซึ่งรัฐบาลนานาประเทศสนับสนุนข้อมูลของอิหร่าน เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์จำนวนมากซึ่งมองว่านายทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงอิหร่านเพราะต้องการลบล้างผลงานของอดีตรัฐบาลโอบามา

ล่าสุด นายทรัมป์ประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะพิจารณามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่อิหร่านรอบใหม่ภายในสัปดาห์หน้า หลังจากที่มีการผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรตามข้อตกลงในสมัยโอบามาอยู่ระยะหนึ่ง 

เลบานอน-ซากขีปนาวุธ-อิสราเอล-อิหร่าน

(ทหารเลบานอนตรวจสอบซากขีปนาวุธซึ่งถูกยิงตกบริเวณพรมแดนระหว่างอิสราเอล-เลบานอน)

การคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่จะยิ่งส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจภายในประเทศของอิหร่าน และอาจทำให้ประชาชนอิหร่านไม่พอใจและออกมาเดินขบวนประท้วงรอบใหม่ หลังจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลและผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของอิหร่านได้ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี ทำให้เกิดการปะทะ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงผู้ถูกจับกุมในข้อหาก่อความไม่สงบเป็นจำนวนมาก

ท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิหร่านถูกตีความว่าเป็นการเข้าข้างอิสราเอล ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับอิหร่าน และนักวิเคราะห์ประเมินว่าสิ่ิ่งที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและราคาน้ำมันโลก

ส่วนกลุ่มติดอาวุธที่แบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายและเคลื่อนไหวอยู่ในซีเรียจะปฏิบัติการก่อความรุนแรงเพิ่มขึ้นเพื่อตอบโต้มาตรการของสหรัฐฯ ทำให้สงครามกลางเมืองในซีเรียกลายเป็น 'สมรภูมิตัวแทน' ของหลายประเทศที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้หนักขึ้นกว่าเดิม และจะยิ่งทำให้ประชาชนที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่สู้รบประสบความยากลำบากมากขึ้น และไม่เห็นหนทางที่จะยุติความรุนแรงได้ในเวลาอันใกล้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: