ไม่พบผลการค้นหา
ใครอ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจบแล้ว ยกมือขึ้น! (ยกมือด้วยความภาคภูมิใจ)

แม้จะรู้กันดีว่าเป็นเอกสารสำคัญต่อประเทศชาติและชีวิตของพวกเรา ตั้งแต่บัดนี้จนถึงอีก 20 ปีข้างหน้า แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ คงมีน้อยคนที่จะอ่านเอกสารจำนวน 73 หน้านี้จนจบ

และสารภาพตามตรงว่า ผมเองก็ต้องใช้เวลาถึง 4-5 วัน กว่าจะอ่านจนถึงหน้าสุดท้าย เพราะมันเป็นเอกสารที่ “อ่านไม่สนุก” เอาเสียเลย เหมือนรวมความปรารถนาของส่วนราชการว่าอยากให้ประเทศเป็นอย่างไร บลาๆๆๆ

แต่พออ่านไปอ่านมา ก็เริ่มสัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่าง จนกล้าจะแย้งสิ่งที่ 'บรรยง พงษ์พานิช' อดีตกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ พูดถึงเอกสารปึกนี้ไว้ “เป็นแค่ wish list ที่เขียนทุกอย่างยัดลงไปตามจินตนาการแคบๆ ของคนเขียน ไม่มีกลยุทธ ไม่มี priority ไม่มีหลักใหญ่ ไม่พูดถึงการปรับและพัฒนากลไกสถาบัน” ว่าอาจไม่ตรงกับสิ่งผมรู้สึกเท่าใดนัก

เพราะประเด็นสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2561 – 2580 อาจไม่ได้มีแค่สิ่งที่ 'ถูกเขียนถึง' แต่ยังรวมถึงสิ่งที่ 'ไม่ได้ถูกเขียน'

และการเรียงลำดับหัวข้อยุทธศาสตร์ชาติ ก็อาจจะบอก priority ไปในตัวอยู่แล้วว่า สำหรับผู้ร่างเห็นอะไรเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำก่อนอย่างอื่น

โดยยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้านประกอบด้วย (1) ด้านความมั่นคง (2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

เจาะลึกลงไปในยุทธศาสตร์ชาติด้านแรกของผู้เขียน (ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ คสช.แต่งตั้งมาทั้งนั้น) อย่าง 'ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง'

อ่านไปก็ให้รู้สึกแปลกใจ เพราะมีแต่การเน้นย้ำเรื่อง

- ยกระดับขีดความสามารถของกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคง

- เสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมในทุกด้าน ทั้งคน เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ ฯลฯ

- พัฒนาคน โครงสร้างกำลังรบและยุทโธปกรณ์ให้เหมาะสมเพียงพอ และเป็นรูปธรรม

แต่สิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าเป็นปัญหาและสมควรปรับปรุงยิ่ง อย่างการแทรกแซงการเมืองของกองทัพด้วยการ 'รัฐประหาร' กลับไม่ปรากฎในยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยนี้เลย แม้แต่นิดเดียว

(ลองใช้ keyword 'รัฐประหาร' 'ยึดอำนาจ' หรือ 'แทรกแซงการเมือง' สแกนหาดูก็ได้ จะไม่เจอแม้แต่คำเดียว)

ทั้งๆ ที่หากใส่เข้าไปด้วย ก็น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ได้กำหนดโทษของส่วนราชการที่ไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์นี้ไว้ด้วย

เช่น สมมุติมีการเขียนไว้ว่า “ส่งเสริมให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แก้ไขด้วยวิถีทางทางการเมือง โดยปราศจากการแทรกแซงจากกองทัพ”

แล้วต่อมา มี ผบ.เหล่าทัพคนใดคนหนึ่งออกมาพูดว่า “หากการเมืองไม่เป็นต้นเหตุของเหตุจลาจล ก็ไม่มีอะไร (รัฐประหาร)” ก็อาจจะถูกยื่นให้ ป.ป.ช.เข้ามาพิจารณาว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ซึ่งโทษมีตั้งแต่ให้ผู้นั้นพักราชการ/พักงาน ให้ออกจากราชการ/ออกจากงานไว้ก่อน ไปจนถึงให้พ้นจากตําแหน่ง

นั่นแปลว่า แค่เปรยว่าไม่ปฏิเสธการทำรัฐประหาร ก็อาจทำให้ ผบ.เหล่าทัพคนนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง!

แต่ในความเป็นจริง นอกจากยุทธศาสตร์ชาติจะเขียนแต่เรื่องการเพิ่มศักยภาพหรือเสริมพลังให้กับกองทัพ ในอีกด้านหนึ่งก็เขียนแต่การปรับปรุงพฤติกรรมของนักการเมือง “ให้เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ เห็นประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวกเพื่อนพ้อง” ไว้หลายจุด

หากว่ากันตามยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ นักการเมืองจำเป็นจะต้องปรับปรุงพฤติกรรม แต่เหล่าแม่ทัพนายกอง ไม่ต้อง!

หลายคนบอกว่า ยุทธศาสตร์ชาติเป็นแค่การเขียนถึงกรอบในการพัฒนาประเทศไว้อย่างกว้างๆ สามารถยืดหยุ่นได้

แต่การ 'เขียนไว้อย่างกว้างๆ' นี่แหล่ะ ก็อาจจะเป็นปัญหาในระยะยาว เพราะอย่าลืมว่า มีการวางกลไกในการเร่งรัด ติดตาม และเอาผิดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาตินี้ไว้ด้วย ผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (ที่ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดถูกตั้งโดย คสช.) คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน (คสช.ตั้งทั้งหมด) ส.ว.แต่งตั้ง (คสช.ตั้งทั้งหมด) ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ (กรรมการบางส่วนถูกเลือกโดย สนช.ที่ คสช.แต่งตั้งมาอีกที)

โดยสามารถเอาผิดรัฐบาลที่ไม่ปฏิบัติตาม ทั้งให้พ้นจากตำแหน่งทันที และถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

(และที่หลายๆ คนชอบพูดว่า ยุทธศาสตร์ชาติแก้ง่าย แก้ได้ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลง หากไปดูกลไกต่างๆ ในกฎหมายจะเห็นได้ว่า การแก้ไขทำได้ไม่ง่ายเลย)

การเขียนไว้แค่บางเรื่อง ไม่เขียนบางเรื่อง

การวางคนของตัวเองไว้ในโครงสร้างต่างๆ

การเขียนด้วยคำกว้างๆ คลุมเครือ เปิดช่องให้ตีความได้

จีงแทบจะฟันธงได้ล่วงหน้าว่า ยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ ส.ว.แต่งตั้ง และบรรดาประกาศ/คำสั่งต่างๆ ของ คสช.

แม้หลายคนอาจทักท้วงว่า ยุทธศาสตร์ชาติถูกร่างขึ้นด้วย 'เจตนาที่ดี' เพื่อให้ประเทศไทยมีแผนการพัฒนาประเทศในระยะยาว ไม่เปลี่ยนไป-เปลี่ยนมา ตามรัฐบาล

แต่หลายๆ ปัญหาของชาติก็เริ่มต้นขึ้นจากเจตนาดีนี่แหละ ยิ่งเป็นเจตนาดีที่อาจมีวาระซ่อนเร้น ในขณะที่คนบางกลุ่มยังไม่อยากปล่อยมือจากอำนาจในระยะเวลาอันใกล้

อ่านเพิ่มเติม:

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog