ไม่พบผลการค้นหา
ปี 2559 เป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการเมืองโลกหลายประการ ในสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี แม้จุดยืนของเขาจะมีความเป็นขวาและให้ความสำคัญกับคุณค่าแบบชาตินิยมอย่างการนำเสนอนโยบาย “America First” หรือ “อเมริกาต้องมาก่อน” ก็ตาม

ในขณะเดียวกัน อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ที่สหราชอาณาจักรมีการจัดการลงประชามติเพื่อนำประเทศออกจากสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิท โดยผลปรากฏออกมาว่า ชาวสหราชอาณาจักรลงคะแนนเสียงเห็นชอบในการออกจากสหภาพยุโรป ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์แห่งชาติ ตั้งแต่ประเด็นผู้อพยพ ไปจนถึงค่าสมาชิกของสหภาพยุโรป 

และถ้าหากเราข้ามช่องแคบอังกฤษเข้าไปสำรวจกระแสการเมืองในยุโรป จะพบว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปีนั้น มารีน เลอแปน นักการเมืองฝ่ายขวาเองได้รับความนิยมสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ในตอนท้ายเธอจะแพ้ให้กับ เอ็มมานูเอล มาครง ก็ตาม และในขณะเดียวกัน นักการเมืองฝ่ายขวาก็ผงาดขึ้นในออสเตรีย พร้อมๆ กับการที่พรรคสังคมนิยมพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสเปนด้วยเช่นกัน

ในช่วงเวลานั้น สื่อมวลชน แวดวงวิชาการ และประชาชนทั่วไป ต่างวิเคราะห์และแสดงความกังวลต่อกระแสหันขวาประชานิยมของชาติมหาอำนาจต่างๆ บ้างวิเคราะห์ว่าระเบียบโลกแบบเสรีนิยมกำลังถูกท้าทาย และกระแสชาตินิยมกำลังกลับมามีอิทธิพลอย่างมากบนการเมืองกระแสหลัก

อย่างไรก็ตาม วาทกรรม “โลกหันขวา” และความกังวลต่อทิศทางการเมืองโลกค่อยๆ คลายลงในช่วงเวลา 3-4 ปีให้หลัง อาจเป็นเพราะหลังจากนั้นไม่ได้มีการเลือกตั้งหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่พร้อมกันเช่นในปี 2559 รวมถึงเพราะโลกเราเจอกับการกลับขึ้นมามีบทบาทของผู้นำที่มีความเป็นขวาน้อยลง ตั้งแต่การขึ้นมาของ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2563 ไปจนถึงการชนะการเลือกตั้งในรอบ 20 ปีของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) หลังการลงจากอำนาจของ อังเกลา แมร์เคิล

แน่นอนว่า การที่วาทกรรมโลกเอียงขวาหายไปจากหน้าสื่อในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้แปลว่าฝ่ายขวาได้พ่ายแพ้ลงอย่างราบคาบ และโลกกำลังกลับเข้าสู่ระเบียบโลกเสรีนิยมดังเดิม อันที่จริง หากนำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกมาพิจารณาร่วมกันคงจะได้ข้อสรุปที่ชี้ว่า สภาพความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นเลย เพราะในปี 2565 เอง กลับมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำในหลายประเทศที่ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว 

‘วอยซ์’ ชวนไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโลกในปี 2565 และบทบาทของฝ่ายขวาที่ส่งอิทธิพลต่อโลกในยุคเปลี่ยนผ่านอันเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ต่างๆ ในปีนี้

 

“อคติทางเพศหมดไปแล้ว”: เกาหลีใต้และกระแสต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศ

เริ่มต้นกันที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ทรงอิทธิพลต่อภาพรวมการเมืองในภูมิภาค และการเมืองโลกที่สุดประเทศหนึ่ง ในเดือน มี.ค. 2565 ประชาชนชาวเกาหลีใต้ออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งในครั้งนี้ ยุนซอกยอล ผู้สมัครสายอนุรักษนิยมจากพรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะเหนือคู่แข่งจากพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลีไปอย่างฉิวเฉียดที่ 1%

ยุนซอกยอลมีจุดยืนที่น่าเป็นกังวลในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ในช่วงแคมเปญหาเสียงของเขา ยุนซอกยอลกล่าวว่า “ความไม่เท่าเทียมเชิงระบบระหว่างเพศได้หมดลงไปแล้ว” และสัญญาว่าจะยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวของเกาหลีใต้ลง แม้ในเวลาต่อมาจะไม่ได้มีการยุบกระทรวงดังกล่าวจริงๆ ก็ตาม

000_32A78VL.jpg

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงเส้นแบ่งที่สำคัญระหว่างเพศในการเมืองเกาหลีใต้ มีการสำรวจว่า สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ ประมาณ 60% ของผู้หญิงเกาหลีสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยเกาหลี ในขณะที่ 60% ของผู้ชายสนับสนุนพรรคพลังประชาชนของยุน นอกจากนี้ กลุ่ม New Men’s Solidarity ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านแนวคิดสตรีนิยมในเกาหลีใต้ ได้ออกตัวว่าสนับสนุนยุนในนโยบายของเขาอีกด้วย โดยเหตุผลที่ทำให้เส้นแบ่งทางเพศนี้เกิดขึ้น คือ การที่ค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่มีอยู่อย่างยาวนานในเกาหลีใต้ถูกสั่นคลอนในสังคมสมัยใหม่ และทำให้ผู้ชายชาวเกาหลีใต้มองว่าตนเป็น “เหยื่อ” ของขบวนการสตรีนิยม อีกทั้งยังมีความเชื่อที่ถูกสนับสนุนโดยยุนที่ว่า แนวคิดสตรีนิยมกำลังถูกทำให้เป็นการเมืองเพื่อทำให้ชีวิตของผู้ชายยากขึ้นอีกด้วย

เช่นเดียวกับทรัมป์และผู้นำฝ่ายขวาคนอื่นๆ ยุนได้เผยแพร่วาทกรรมที่ต่อต้านผู้อพยพและชาวต่างชาติอย่างรุนแรง ที่สำคัญคือการอ้างว่า “คนเกาหลีใต้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ชอบประเทศจีน” และการกล่าวว่าคนต่างชาติโดยเฉพาะคนจีนกำลังตักตวงผลประโยชน์จากระบบสาธารณสุขของเกาหลีใต้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน ยุนซอกยอลได้สนับสนุนการเจริญความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่แนบแน่นขึ้นระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาค ซึ่งเขาเชื่อวามุนแจอิน อดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ในสมัยที่แล้วไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอ ในขณะที่นโยบายของเขาอ่อนข้อต่อเกาหลีเหนือและจีนเกินไป

 

ชัยชนะของฝ่ายขวาครั้งประวัติศาสตร์ของสวีเดน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การเมืองของสวีเดนอาจเรียกได้ว่ามีบรรยากาศของความเอียงซ้ายมาโดยตลอด พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่มีแนวคิดสนับสนุนระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย ที่เป็นแนวคิดที่แพร่หลายในภูมิภาคสแกนดิเนเวีย เป็นพรรคที่ได้รับความนิยมจากชาวสวีเดนอย่างมาก นับตั้งแต่การเปลี่ยนมาใช้ระบบสภาเดี่ยวในปี 2513 พรรคการเมืองที่ได้รับสัดส่วนคะแนนโหวตสูงที่สุดคือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยนายกรัฐมนตรี 8 จาก 13 คนนับตั้งแต่ปี 2513 มาจากพรรคการเมืองดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สวีเดนมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏออกมาแล้วว่า แม้พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย จะยังคงได้รับที่นั่งในรัฐสภามากที่สุดเช่นเดิม คือ 107 ที่นั่งจาก 309 ที่นั่ง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะแนวร่วมพรรคฝ่ายขวาที่นำโดยพรรคประชาธิปไตยสวีเดนได้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศสวีเดน

000_32J82KV.jpg

สำหรับพรรคประชาธิปไตยสวีเดน เป็นพรรคที่ก่อตั้งในทศวรรษที่ 1980 โดยกลุ่มนีโอนาซีและกลุ่มขวาจัดของสวีเดน และเป็นพรรคการเมืองที่ชาวสวีเดนส่วนมากหลีกเลี่ยงมาโดยตลอดด้วยเหตุผลดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปไตยสวีเดนได้มีความพยายามทำการปฏิรูปภาพลักษณ์ของตนหลายครั้ง ตั้งแต่การตัดจุดยืนที่สุดโต่งลง ไปจนถึงการเปลี่ยนโลโก้พรรคจากรูปคบเพลิงเป็นรูปดอกไม้ พรรคประชาธิปไตยสวีเดนภายใต้การนำของ จิมมี โอเกสัน ผู้นำพรรคคนปัจจุบันค่อยๆ ขยับขยายและได้รับความนิยมขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในปี 2553 พรรคประชาธิปไตยสวีเดนได้รับเลือกตั้งในสภาครั้งแรกด้วยสัดส่วน 6% ของคะแนนเสียงทั้งหมด และนับแต่นั้นพรรคดังกล่าวก็ได้รับความนิยมจากชาวสวีเดนมากขึ้นจนมาถึงระดับคะแนนเสียง 20% ของผู้ใช้สิทธิทั้งหมดในการเลือกตั้งในปีนี้

ความนิยมของพรรคประชาธิปไตยสวีเดน ถูกมองว่ามีสาเหตุมาจากการไหลเข้ามาของผู้อพยพจากภัยสงครามในซีเรียนับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งสวีเดนกลายมาเป็นประเทศที่ชาวซีเรียสมัครเข้ามาเป็นผู้อพยพมากเป็นอันดับ 2 ในยุโรป รองจากฮังการีเพียงประเทศเดียวเท่านั้น พร้อมกันนั้น อัตราอาชญากรรมและการปะทะกันระหว่างกลุ่มอาชญากรในสวีเดนก็เพิ่มสูงขึ้นในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้วิเคราะห์ว่า ประชาชนสวีเดนเกิดความรู้สึกต้องการปกป้อง “ความเป็นสวีเดน” ไว้ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“สาเหตุหลักเบื้องหลังความสำเร็จของพรรคประชาธิปไตยสวีเดนในทศวรรษที่ผ่านมา คือ จำนวนผู้อพยพที่พุ่งสูงขึ้น และความเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนประชากรของสวีเดน ในแง่ที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติและพลเมืองที่เกิดในต่างประเทศมากขึ้น” โยฮัน มาร์ตินสัน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กให้ความเห็น

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปไตยสวีเดนเป็นพรรคการเมืองหลักพรรคเดียวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ต่อต้านนโยบายการเปิดรับผู้อพยพมาโดยตลอด จุดยืนของพรรคชี้ว่า ผู้อพยพรุ่นที่สองในเมืองหลักของสวีเดนเป็นต้นเหตุทำให้เกิดความรุนแรง จากการใช้ปืนและอาชญากรรมประเภทอื่นๆ มากขึ้น และทำให้สังคมสวีเดนเกิดความเสื่อมถอยลง ทั้งนี้ พรรคประชาธิปไตยสวีเดนระบุว่า ภารกิจหลักของพรรค คือ การปกป้อง “วัฒนธรรมและธรรมเนียมของสวีเดน” เอาไว้ ด้วยนโยบายต่อต้านผู้อพยพ

 

อิตาลี และว่าที่นายกฯ หญิงสายขวาอนุรักษ์นิยมคนแรก

ต่างกันกับสวีเดน อิตาลีเป็นประเทศที่กระแสการเมืองแบบขวาจัดปรากฏให้เห็นมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่า พรรคลีกา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงอยู่ในตอนเหนือของอิตาลี และมีจุดยืนแบบขวาจัด ต่อต้านผู้อพยพ รวมถึงสนับสนุนความเป็นสหพันธรัฐในอิตาลีภายใต้เหตุผลว่า ภาคเหนือของอิตาลีมีประสิทธิผลทางเศรษฐกิจมากกว่าภาคใต้ของประเทศ และภาคเหนือกำลังสูญเสียผลประโยชน์ภายใต้โครงสร้างการปกครองปัจจุบัน กลับกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลและได้กลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของอิตาลีหลายสมัยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ผู้ลงสมัครที่น่าจับตามองที่สุดกลับเป็น จิออร์เจีย เมโลนี จากพรรคพี่น้องแห่งอิตาลี ซึ่งผลสำรวจเผยว่ามีคะแนนเสียงนำ มาตเตโอ ซัลวินี จากพรรคลีกา และ ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี อตีตนายกรัฐมนตรีวัย 85 ปีของอิตาลีจากพรรคฟอร์ซาอิตาเลีย

เมโลนีเป็นผู้ลงสมัครที่แสดงจุดยืนที่มีความเป็นขวาหลายครั้ง โดยเธอได้รับความนิยมจากการเป็นผู้ที่มีจุดยืนทางการเมืองหนักแน่น ซึ่งต่างจากซัลวินีและแบร์ลุสโกนีที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลผ่ายซ้ายกลางของ มาริโอ ดรากี ในสมัยที่ผ่านมา นโยบายที่สำคัญของเมโลนี คือ การปกป้องผลประโยชน์ของอิตาลีในลักษณะที่อาจเรียกได้ว่าเป็นนโยบาย “อิตาลีต้องมาก่อน” เช่นการปกป้องเศรษฐกิจในประเทศ หรือการลดภาษีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

000_32HT32K.jpg

“ดิฉันอยากจะบอกกับสหภาพยุโรปว่า ช่วงเวลาแห่งการตักตวงผลประโยชน์หมดลงแล้ว” เมโลนีกล่าว “ได้เวลาเริ่มปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติอิตาลี เหมือนกับที่ประเทศอื่นในสหภาพยุโรปเริ่มทำกันตั้งนานแล้ว”

เมโลนีเข้าสู่แวดวงการเมืองผ่านการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอิตาเลียน (Italian Social Movement - MSI) ตั้งแต่เธออายุ 15 ปี ขบวนการดังกล่าวถูกก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกลุ่มผู้ที่สนับสนุน เบนิโต มุสโสลินี นายกรัฐมนตรีฟาสซิสต์ของอิตาลีในช่วงสงคราม โดยหลังสมัยของนายกฯ แบร์ลุสโกนี ในปี 2554 เธอและสมาชิกขบวนการบางส่วนได้ร่วมก่อตั้งพรรคของตนเองขึ้นมาภายใต้ชื่อพรรคพี่น้องแห่งอิตาลี โดยเป็นที่น่าสนใจว่า ที่พรรคดังกล่าวไม่เคยออกมาปฏิเสธต้นกำเนิดของพรรคที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับขบวนการฟาสซิสต์อย่าง MSI เลย

ในช่วงที่เมโลนีนำพรรคพี่น้องแห่งอิตาลี เธอได้แสดงจุดยืนว่าตนเป็นอนุรักษนิยมหลายครั้ง เธอสนับสนุนขบวนการชาตินิยมอิตาลี และคุณค่าครอบครัวแบบดั้งเดิม ในเดือน มิ.ย. 2565 เธอได้กล่าวสุนทรพจน์เพื่อสนับสนุนพรรควอกซ์ของสเปน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบขวาจัด ในครั้งนั้นเธอประกาศตนอย่างชัดเจนว่าตนต่อต้านสิ่งที่เธอเรียกว่า “ความรุนแรงของอิสลาม” “อุดมการณ์เรื่องเพศ” และ “การล็อบบี้ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ”

ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เมโลนีต่อต้านโควตาความหลากหลายที่จะทำให้ผู้หญิงได้มีตำแหน่งในรัฐสภาและคณะกรรมาธิการต่างๆ มากขึ้น โดยกล่าวว่าผู้หญิงต้องมีความพยายามด้วยตนเอง ดังเช่นที่เธอพยายามผลักดันตัวเองมาตลอด เธอยังอ้างอีกว่า หากมีโควตาดังกล่าวที่ทำให้ผู้หญิงเข้าสู่แวดวงการเมืองมากขึ้น จะส่งผลเสียให้อัตราการเกิดของประชากรอิตาลีลดถอยลง

การเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีที่กำลังจะมีขึ้นในวันอาทิตย์นี้ (25 ก.ย.) จะเป็นตัวตอกย้ำทิศทางการเมืองของอิตาลีที่กระแสความคิดแบบฝ่ายขวาคุกรุ่น และมีการสลับกันขึ้นมามีอิทธิพลในการเมืองกระแสหลักเป็นระยะๆ มาโดยตลอด ทั้งนี้ ผลการสำรวจชี้ว่า เมโลนีมีโอกาสชนะการเลือกตั้งครั้งเหนือผู้ลงสมัครคนอื่นสูง และเธอจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลีในที่สุด

จากกรณีตัวอย่างของ 3 ประเทศคือ เกาหลีใต้ สวีเดน และอิตาลี จะเห็นได้ว่า กระแสความคิดแบบเอียงขวาไม่ได้เลือนหายไปจากแวดวงการเมืองโลกโดยสิ้นเชิง แม้สื่อจะไม่ได้มีการเน้นย้ำข้อเท็จจริงดังกล่าวมากเท่ากับกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2559 ด้วยความอิ่มตัวของกระแส และจังหวะของเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีการพลิกตัวของทิศทางทางการเมืองอย่างน่าตกใจพร้อมๆ กันเช่นตอนนั้น ไปจนถึงความเฉพาะหน้าของวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ดึงความสนใจของเรา จากอุดมการณ์ทางการเมืองมาสู่ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภัยพิบัติแทน 

แต่หากพิจารณาเป็นรายประเทศ รวมถึงทิศทางการเมืองในองค์กรระหว่างประเทศอย่างการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปครั้งที่ผ่านมา จะพบว่าผู้นำและนักการเมืองที่มีแนวคิดเอนเอียงไปทางฝ่ายขวาชาตินิยมยังคงมีอิทธิพลในการเมืองมาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้เป็นภาพอนาคตของการเมืองโลกที่ยังคงน่าจับตามอง เพื่อให้รู้เท่าทันแนวโน้มนโยบายที่จะส่งอิทธิพลต่อเราทุกคนในอีกหลายปีนับจากนี้

 

เรียบเรียงโดย ภีมพศ สีมาวุธ


ที่มา:

https://www.dw.com/en/germany-spd-maintains-winning-streak-in-saarland-vote/a-61271943

https://thediplomat.com/2022/03/what-president-yoon-suk-yeols-election-means-for-south-korean-democracy/

https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20220228000935

https://www.americanprogress.org/article/rising-anti-china-sentiment-in-south-korea-offers-opportunities-to-strengthen-us-rok-relations/

https://www.theguardian.com/world/2022/sep/19/far-right-sweden-democrats-poised-to-wield-influence-in-new-government

https://www.dw.com/en/swedish-election-the-astonishing-rise-of-the-right-wing-sweden-democrats/a-63100694

https://peoplesworld.org/article/party-with-neo-nazi-roots-surges-in-sweden-social-democrats-forced-out-of-government/

https://www.france24.com/en/europe/20220914-we-ve-tried-them-all-except-meloni-far-right-leader-tipped-to-become-italy-s-first-female-pm

https://foreignpolicy.com/2022/07/27/italy-right-wing-politics-populism-meloni-draghi-salvini-berlusconi/