ไม่พบผลการค้นหา
“พวกเขาคือตัวแทนของนักข่าวทั่วโลกที่ยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการแสดงออก ในโลกที่ประชาธิปไตยและเสรีภาพของสื่อมวลชนเผชิญกับสภาวะที่เลวร้ายมากขึ้น”

มาเรีย เรสซา ผู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์ และดมิทรี มูราทอฟ ผู้สื่อข่าวชาวรัสเซีย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2021  คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของนอร์เวย์ตัดสินให้รางวัลแก่ทั้งสองคนจากความกล้าหาญที่พวกเขายืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก “ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาธิปไตยและสันติภาพที่ยั่งยืน”

มาเรีย เรสซา ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อเปิดโปงการใช้อำนาจโดยมิชอบ การใช้ความรุนแรง และความเป็นเผด็จการในประเทศบ้านเกิดของเธอที่ฟิลิปปินส์ ในปี 2012 เธอร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ “แรพเลอร์” (Rappler) ที่ทำงานข่าวเชิงสืบสวน วิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงจากการดำเนินนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต

ในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ศาลกรุงมะนิลาตัดสินว่าเรสซาและเพื่อนร่วมงาน เรย์นัลโด ซานโตส มีความผิดฐาน ‘หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาทางไซเบอร์’ จากการเขียนบทความที่ระบุว่านักธุรกิจ วิลเฟรโด เก็ง มีส่วนพัวพันกับยาเสพติดและการค้ามนุษย์ เคสนี้นับเป็นครั้งแรกในฟิลิปปินส์ที่ผู้สื่อข่าวถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหานี้ ศาลสั่งลงโทษจำคุกทั้งสองคนเป็นเวลาหกเดือนกับหนึ่งวันจนถึงหกปี และสั่งให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 400,000 เปโซ (ประมาณ 2.7 แสนบาท) ให้กับโจทก์ สุดท้ายศาลอนุญาตให้ทั้งสองคนได้รับการประกันตัว

Maria Ressa.jpg

หลายฝ่ายเชื่อว่าการฟ้องร้องแรพเลอร์ในครั้งนั้นมีแรงจูงใจทางการเมือง เนื่องจากแรพเลอร์เป็นสำนักข่าวที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับการปกครองภายใต้การนำของประธานาธิบดีดูแตร์เต เรสซาเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอเมริกัน CNN ว่าเธอไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลฟิลิปปินส์ถึงกลัวนักข่าว

“เมื่อมันมีอำนาจที่พร้อมจะทำร้ายคุณอยู่ตลอดเวลา ถ้าคุณอนุญาตให้มันมีอิทธิพลต่อคุณ พวกเขาก็จะชนะ เพราะมันทำให้คุณหยุดทำหน้าที่นักข่าวสืบสวนในแบบที่คุณควรจะทำ สิ่งที่พวกเราในแรพเลอร์เรียนรู้ที่จะทำคือการไม่กลัวอำนาจนั้น และเลือกที่จะทำหน้าที่ของพวกเราต่อไป”


ดมิทรี มูราทอฟ ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกในรัสเซียมานานหลายทศวรรษ ในปี 1993 เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “โนวายา กาเซตา” (Novaja Gazeta) เขาเป็นบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์นี้มา 24 ปี ปัจจุบันโนวายา กาเซตา เป็นสื่อที่เป็นอิสระและกล้าที่จะตั้งคำถามต่ออำนาจมากที่สุดในรัสเซีย อีกทั้งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่สะท้อนแง่มุมของสังคมรัสเซียที่ไม่มีในสื่อสำนักอื่น ตีพิมพ์บทความวิจารณ์ในหัวข้อต่างๆ ตั้งแต่การทุจริต ความรุนแรงของตำรวจ การจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การฉ้อโกงในการเลือกตั้ง ไปจนถึงการใช้กองกำลังทหารของรัสเซียทั้งในและนอกรัสเซีย

Dmitry Muratov.jpg

นับตั้งแต่การเริ่มต้นของหนังสือพิมพ์ ฝ่ายตรงข้ามของหนังสือพิมพ์โนวายา กาเซต ตอบโต้ด้วยการคุกคาม ข่มขู่ ความรุนแรง และการฆาตกรรมมาโดยตลอด ที่ผ่ามามีนักข่าวหกคนถูกสังหาร แต่มูราทอฟ ในฐานะหัวหน้าบรรณาธิการก็ไม่เคยละทิ้งจุดยืนความเป็นอิสระของหนังสือพิมพ์ เขาปกป้องสิทธิของนักข่าวอย่างต่อเนื่อง ด้วยการยืนยันว่าสื่อมวลชนจะต้องสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ ตราบใดที่พวกเขาปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมของการทำข่าว


องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders – RSF) จัดอันดับเสรีภาพสื่อประจำปี 2021 ของ 180 ประเทศทั่วโลก ฟิลิปปินส์อยู่อันดับที่ 138 รัสเซียอยู่อันดับที่ 150 ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 137


ที่มาภาพปก: Niklas Elmehed via The Nobel Prize

อ้างอิง:

https://www.nobelprize.org/prizes/peace/2021/press-release/

https://amp.cnn.com/cnn/2020/06/14/asia/maria-ressa-philippines-cyber-libel-intl-hnk/index.html

https://www.amnesty.or.th/latest/news/807/

https://www.rappler.com/about/winners-nobel-peace-prize-2021?fbclid=IwAR1CM9x0YD4hqghX0M-L97ZizJKRVPmZ8B7tdeL9cVpiLha-PrHr5xzJ5Tc

https://rsf.org/en/ranking/2021