ไม่พบผลการค้นหา
เรื่องไหนถูกยกย่องว่าเป็น "ภาพยนตร์แห่งปี 2018" คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง รวบรวมโผรายชื่อหนังที่สำคัญมาไว้ให้แล้วในคอลัมน์ สำส่อนทางความบันเทิง

เช่นเดิมช่วงปลายปีกับธรรมเนียมปฏิบัติแห่งการจัดอันดับสารพัด ในส่วนของภาพยนตร์แห่งปี 2018 นั้น จนกว่าจะหมดฤดูกาลออสการ์ เราคงได้ยินชื่อหนังวนไปมาอย่าง A Star is Born, Black Panther, Bohemian Rhapsody ฯลฯ ซึ่งในบทความจะขอละเว้นการพูดถึงหนังเหล่านั้น ไว้ค่อยถึงตอนใกล้ๆ ออสการ์เรามาว่ากันอีกที

ในบทความนี้จะขอสรุป ‘หนังแห่งปี 2018’ โดยเน้นไปที่หนังนอกกระแสและหนังศิลปะ เช่นเดิมกับปีที่แล้ว ผู้เขียนขอใช้ไกด์นำทางเป็นการจัดอันดับจากสามนิตยสารภาพยนตร์ชื่อดัง ได้แก่ Cahiers du Cinema (ฝรั่งเศส) Sight & Sound (อังกฤษ) และ Film Comment (สหรัฐอเมริกา) เรามาดูกันว่าทีมงานของทั้งสามเจ้าโหวตหนังเรื่องอะไรเป็นอันดับหนึ่งและแต่ละเรื่องมีความน่าสนใจอย่างไร


Cahiers du Cinema เลือก The Wild Boys

ตามสไตล์ของนิตยสารสุดติสต์เมืองน้ำหอมอย่าง Cahiers du Cinema ที่ทีมงานมักมีรสนิยมแปลกพิสดารกว่าชาวบ้าน (อย่างปีที่แล้วก็ยกตำแหน่งให้กับซีรีส์ Twin Peaks: The Return หน้าตาเฉย) ปีนี้ Cahiers ก็ทำคนอึ้งเช่นกัน เมื่อพวกเขาเลือก The Wild Boys หนังฝรั่งเศสของ เบอร์ตรอง มานดิโก้ เป็นหนังแห่งปี

สารภาพตามตรงว่าผู้เขียนไม่รู้จักหนังเรื่องนี้มาก่อนเลย ไปสืบสอบย้อนความจึงพบว่ามันเป็นหนังที่ฉายในเทศกาลหนังเวนิซเมื่อปี 2017 นู่น แต่ช่วงปี 2018 หนังเรื่องนี้ตระเวนฉายในหลายประเทศจนเป็นที่ฮือฮาขึ้นมาบ้าง ส่วนผู้กำกับมานดิโก้นั้น แม้จะทำ The Wild Boys เป็นหนังยาวเรื่องแรก แต่เขาทำหนังสั้นมาตั้งแต่ปลายยุค 90 จุดเด่นคือลักษณะหนังแบบทดลองและสไตล์อันฉูดฉาด

The Wild Boys เป็นหนังเหนือจริงที่เป็นภาพขาวดำบ้างภาพสีบ้าง เล่าถึงเด็กหนุ่มห้าคนที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงจนถูกลงโทษด้วยการส่งไปล่องเรือกับกัปตันหน้าโหด ความเพี้ยนของหนังเรื่องนี้คือนักแสดงนำทั้งห้าคนแท้จริงแล้วเป็นผู้หญิงทั้งหมด แต่พวกเธอก็เล่นเป็นชายหนุ่มวัยกลัดมันได้อย่างแนบเนียน



The Wild Boys2.jpg

หนังโดดเด่นด้วยการเบลอสถานที่ เวลา และสำคัญที่สุดคือการพร่าเลือนของเพศสภาพ หากเปรียบเทียบในเชิงอุปมา The Wild Boys เริ่มต้นด้วยความกักขฬะหยาบโลนของเด็กหนุ่ม ก่อนจะคลี่คลายด้วยเรื่องการเติบโตของเด็กสาว และจบลงด้วยการตั้งคำถามถึงสภาวะก่ำกึ่ง (in-between) ระหว่างชาย/หญิง

แม้ว่าเรื่อง gender จะถูกนำเสนอในโลกภาพยนตร์จนเฝือ แต่มานดิโก้ก็สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ด้วยความเซอร์เรียลน่าหลงใหล เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่าโลกยุคนี้อุดมไปด้วยความ realistic อย่างกล้องวงจรปิด ยูทูบ และการไลฟ์สด ดังนั้นเขาจึงยึดมั่นในแนวทางของความเหนือจริงต่อไป


Sight & Sound เลือก Roma

ถือเป็นอันดับหนึ่งที่ปลอดภัยและไม่ค่อยน่าแปลกใจนัก เพราะ Roma ของอัลฟองโซ กัวรอง เป็นผลงานที่รับคำชมแทบจะเอกฉันท์ ถึงกระนั้นหนังก็มีประเด็นให้พูดถึงได้อย่างไม่สิ้นสุด เริ่มจากตัวของกัวรองที่พื้นเพเป็นคนเม็กซิโก แต่ไปทำหนังฮอลลลีวูดสเกลยักษ์อยู่หลายปี (อาทิ Harry Potter ภาค 3, Children of Men, Gravity) Roma ถือเป็นการกลับไปทำหนังในเม็กซิโกในรอบ 17 ปีของกัวรอง นับจากเรื่อง Y Tu Mama Tambien (2001)

ประเด็นถัดมาที่ผู้คนแซ่ซ้องสรรเสริญใน Roma คือเรื่องของเทคนิคภาพยนตร์ เพียงแค่ฉากเปิดเรื่อง-การถ่ายเงาสะท้อนของเครื่องบินบนฟ้าจากน้ำขังที่พื้น-ก็ทำให้รู้แล้วว่าหนังเรื่องนี้ ‘ไม่ธรรมดา’ (กัวรองรับหน้าที่ตากล้องเองด้วย) ผู้เขียนเชื่อว่าหลายฉากของ Roma จะถูกสอนในโรงเรียนภาพยนตร์ ทั้งเรื่องการถ่ายภาพชัดตื้น (หน้าชัดหลังเบลอหรือกลับกัน) ในฉากโรงหนัง หรือการถ่ายลองเทคจากฉากชายหาดท้ายเรื่อง ถึงกับมีคนบอกว่าเบื้องหลังการถ่ายทำ Roma อาจจะน่าสนใจกว่าตัวหนังเสียอีก (ฮา) ซึ่งเรื่องนี้นำไปสู่การถกเถียง(อีกครั้ง)ว่าการดูหนังในโรงยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่หรือไม่ แม้ว่า Roma จะฉายทางเน็ตฟลิกซ์ด้วยก็ตาม

อีกบทเรียนจาก Roma ที่เหล่าอาจารย์ภาพยนตร์น่านำไปสอนด้วยคงเป็นเรื่องการทำหนังส่วนตัวให้มีความสากล แม้เรื่องราวของสาวใช้ท่ามกลางครอบครัวชนชั้นกลางจะมาจากชีวิตจริงของกัวรองเอง แต่เขาก็ทำให้หนังไม่หมกมุ่นกับตัวเองจนเกินไปด้วยการสอดแทรกบริบททางสังคมเม็กซิโกช่วงยุค 70 โดยเฉพาะพล็อตที่ว่าด้วยหน่วยปราบปรามนักศึกษาที่น่าขนลุกไม่น้อย



roma3.jpg

แต่ใช่ว่าคนทั้งโลกจะรัก Roma ไปเสียหมด มีข้อตำหนิต่อหนังอยู่บ้าง เช่นเรื่องการถ่ายทอดชนชั้นล่างจากมุมมองของ elite (ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่อง political correctness ที่น่ารำคาญไม่น้อย) หรือการที่ตัวละครสาวใช้มีลักษณะ passive แทบไม่ได้แสดงความเห็น ไม่มีน้ำเสียงเป็นของตัวเอง แต่นั่นอาจเป็นหัวใจของหนังก็ได้ เพราะมีอยู่ฉากเดียวที่เธอแสดงความเห็นออกมานั่นคือฉากชายหาดที่เธอพูดถึงลูกของตัวเอง มันเป็นคำพูดที่ทรงพลังและชวนใจสลายอย่างยิ่ง


Film Comment เลือก Zama

ปกติแล้วหนังอันดับหนึ่งของ Film Comment มักเป็นหนังอเมริกันหรืออะไรที่มีความฮอลลีวูดในตัว เช่น Inside Llewyn Davis, Boyhood, Carol และ Good Time พอเปิดเผยโพลว่าหนังแห่งปีคราวนี้เป็น Zama ก็ถือว่าเซอร์ไพรส์ไม่น้อย เพราะนี่คือหนังของผู้กำกับหญิงชาวอาร์เจนตินา ลูเครเซีย มาร์เตล ที่ว่าด้วยยุคอาณานิคมช่วงศตวรรษที่ 18

หนังสร้างจากนิยายชื่อเดียวกันปี 1956 ของ แอนโทนิโอ ดิ เบเนเดทโต ว่าด้วยข้าราชการวัยกลางคนนามซามา ที่ประจำการอยู่ปารากวัย เขาเฝ้ารอคอยที่จะได้ย้ายกลับไปหาลูกเมียที่อาร์เจนตินา แต่ดูเหมือนว่าวันนั้นจะไม่มีทางมาถึง ซามาไม่ได้รับการตอบสนองในทุกด้าน ทั้งเรื่องงาน การเงิน รวมไปถึงเรื่องเพศ หนังมีบรรยากาศแอบเสิร์ดแห่งการรอคอยแบบ Waiting for Godot และระบบราชการลึกลับแบบนิยายคาฟกา



zama1.jpg

Zama เป็นหนังที่ต่างจากผลงานก่อนๆ ของมาร์เตลอย่างชัดเจน ปกติแล้วเธอมักทำหนังว่าด้วยผู้หญิงชนชั้นกลาง แต่เรื่องนี้ตัวละครนำเป็นชายและเป็นหนังพีเรียด แต่สาระในหนังของเธอยังไม่เปลี่ยนแปลง ประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนขาวและคนพื้นถิ่นที่เธอนำเสนอมาตลอดยังคงปรากฏใน Zama ตามที่มาร์เตลให้เหตุผลว่าการเหยียดเชื้อชาติยังคงดำเนินไปในอาร์เจนตินานั่นเอง

อีกอย่างที่มาร์เตลคงลายเซ็นไว้คือ ‘ความเฮี้ยน’ ในหนังของเธอ แม้จะเล่าเรื่องแบบนิ่งๆ เรื่อยๆ จนเฉียดความน่าเบื่อ แต่เทคนิคต่างๆ ในหนังมาร์เตลยังคงพิศวงเสมอ ไม่ว่าจะฉากแฟนตาซีที่แทรกเข้ามาแบบไม่รู้ตัว เสียงวอยซ์โอเวอร์ที่บางทีก็แยกไม่ออกว่าใครคือต้นเสียง หรือกระทั่งดนตรีประกอบที่ดูผิดที่ผิดทาง เช่นนั้นแล้ว Zama จึงเป็นหนังที่เคี้ยวยากไม่น้อย ด้วยบริบททางประวัติศาสตร์อันเฉพาะตัวและโครงสร้างการเล่าเรื่องแหวกขนบ



zama3.jpg


สรุป

หนังอันดับหนึ่งจากนิตยสารสามหัวปีนี้มีแนวโน้มกระจายไปคนละทิศทาง แต่อย่างหนึ่งที่หนังทั้งสามเรื่องมีเหมือนกันคือเทคนิคภาพยนตร์อันจัดจ้านในแบบของตัวเอง ว่ากันตามตรงแล้วทั้ง The Wild Boys, Roma, Zama เป็นหนังที่จะแสดงศักยภาพได้สูงสุดในโรงภาพยนตร์ แต่ก็น่าเสียดายว่าบ้านเราคงไม่มีโอกาสนั้น (Roma ฉายเพียงสองโรงในประเทศไทย) สำหรับเราชาวไทยการจะหาหนังเหล่านี้มาดูคงเป็นการแสวงหาและผจญภัยในแบบของตัวเอง

ท้ายสุด ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการชมภาพยนตร์และเสพศิลปะทุกแขนง

สวัสดีปีใหม่ครับ :)


สรุปท็อปเท็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2018 จากทั้งสามนิตยสาร

Cahiers du Cinema

1. The Wild Boys

2. Coincoin and the Extra-Humans

3. Phantom Thread

4. Burning

5. Paul Sanchez est revenu!

6. The Post

7. On the Beach at Night Alone

8. The House That Jack Built

9. Leto

10. Treasure Island


Sight & Sound

1. Roma

2. Phantom Thread

3. Burning

4. Cold War

5. First Reformed

6. Leave No Trace

7. The Favourite

= You Were Never Really Here

9. Happy as Lazzaro

= Zama


Film Comment

1. Zama

2. Burning

3. First Reformed

4. Roma

5. Western

6. Shoplifters

7. Let the Sunshine In

8. The Other Side of the Wind

9. Happy as Lazzaro

10. Hale County This Morning, This Evening