ไม่พบผลการค้นหา
กอนช.แจ้งเตือนกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี 7-10 ต.ค.เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนเพิ่มสูงขึ้นใสแม่น้ำเจ้าพระยา 30-50 เซนติเมตร ขณะที่ชุมนุมศาลเจ้าย่านตลาดน้อย เยาวราช น้ำหนุนสูงทำให้เกิดน้ำท่วมขัง

เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 5 ต.ค. 2564 ที่ท่าน้ำศาลเจ้าโจวซือกง ย่านตลาดน้อย เยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดินไปเมื่อท้องฟ้าแผดสีส้มจัดพร้อมกับน้ำในแม่น้ำพระยาที่ค่อยๆ สูงขึ้นตามวงรอบของช่วงหนึ่งวัน โดยในวันนี้ระดับน้ำได้ขึ้นสูงสุดเมื่อเวลา 19.00 น.

ขณะที่ถัดจากบริเวณนี้ไปไม่กี่ร้อยเมตร ที่ศาลเจ้าโรงเกือก ซอยวานิช 2 ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมขังลานหน้าศาลเจ้าประมาณ 15 เซนติเมตร โดยยังไม่ถึงพื้นภายในตัวศาลเจ้า โดยคนที่อยู่ในชุมชนเล่าว่า เป็นปกติในช่วงฤดูน้ำหลากของทุกปีที่น้ำจะท่วมขังได้ แต่น้ำก็ละลดลงภายประมาณครึ่งชั่วโมงเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันบริเวณศาลเจ้าโรงเกือกถือเป็นจุดที่พื้นดินต่ำที่สุดในย่านนี้ อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลตามที่มีประกาศว่าจะมีน้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 7 - 10 ต.ค. นี้

ตลาดน้อย น้ำขึ้น น้ำท่วม แม่น้ำเจ้าพระยา AFE01392-C879-48EB-B943-59286F4071ED.jpegตลาดน้อย แม่น้ำ น้ำท่วม แม่น้ำเจ้าพระยา 760467CB-9D2E-4EBE-9C96-E5E573E82428.jpegน้ำท่วม แม่น้ำเจ้าพระยา ตลาดน้อย 8CBB076A-EECD-47C5-A903-1DD70D1BC37F.jpeg

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)  ออกประกาศฉบับที่ 19/2564 เรื่องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุว่าจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ทำให้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะไหลออกสู่อ่าวไทยในช่วงวันที่ 7-10 ต.ค. 2564 ประกอบกับในช่วงเวลานั้น เกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30-50 เซนติเมตร

กอนช. ยังระบุว่า สถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก พบว่า เมื่อวันที่ 1ต.ค. 2564 ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,775-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเมื่อวันที่2ต.ค. 2564 ปริมาณน้ำหลากสูงสุดจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกสูงสุดในอัตรา 762 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีคาดว่าในวันที่ 5 ต.ค. 2564 ปริมาณน้ำจะไหลหลากรวมกันผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยาในเกณฑ์สูงสุด 3,050-3,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะไหลออกสู่อ่าวไทยในช่วงวันที่ 7-10 ต.ค. 2564 ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30-50 เซนติเมตร 

โดยพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังประกอบด้วย 1. จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 2. กรุงเทพมหานคร บริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบให้ระดับน้ำล้นคันป้องกันน้ำริมแม่น้ำของกรุงเทพมหานคร ยกเว้นบริเวณที่ไม่มีระบบคันป้องกันริมแม่น้ำ

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันน้ำริมแม่น้ำเสริมคันกั้นน้ำบริเวณจุดเสี่ยงที่มีระดับคันป้องกันน้ำต่ำ และบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำทราบล่วงหน้า และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อม ในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที