ไม่พบผลการค้นหา
ติวเตอร์วิชาภาษาไทยชื่อดัง อธิบายความสำคัญของการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ชี้สื่อสารผิดๆ ถูกๆ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของผู้ส่งสาร โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะ

"จักรกฤต โยมพยอม" หรือ "ครูทอม คำไทย" ติวเตอร์วิชาภาษาไทยชื่อดัง เจ้าของแอคเคาท์ทวิตเตอร์ @TUTOR_TOM และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/tom.jakkriz ซึ่งมีผู้ติดตามรวมนับแสนคน ให้ความเห็นถึงการใช้ภาษาไทยของนักการเมือง , สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. ตลอดจนบุคคลสาธารณะ กับ 'วอยซ์ออนไลน์'' โดยอธิบายว่า ภาษาคือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร หากใช้ภาษาอย่างถูกต้องเหมาะสม การสื่อสารของเราก็จะมีประสิทธิภาพ กล่าวคือผู้ส่งสารสามารถสื่อสารออกไปได้ตรงกับที่ใจคิด ในขณะเดียวกันผู้รับสารก็สามารถเข้าใจความหมายของสาร และรับรู้สิ่งที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อ

“ถ้าใช้ผิดๆ ถูกๆ ไม่ว่าจะเลือกใช้คำผิดความหมายหรือว่าสะกดผิด ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการสื่อสารทั้งนั้น อย่างการสะกดผิดนี่นะครับ บางครั้งอาจจะไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยน แต่ความหมายและความรู้สึกที่เพิ่มขึ้นมาคือ ผู้รับสารจะรู้สึกได้ว่าผู้ส่งสารเป็นคนไม่รอบคอบ ไม่มืออาชีพ ไม่รู้จักตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ซึ่งก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของตัวผู้ส่งสารด้วยครับ”

ครูทอม บอกว่า การสื่อสารอย่างผิดๆ ถูกๆ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของผู้ส่งสาร โดยอาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพหนึ่งที่จำเป็นต้องมีภาพลักษณ์ที่ดี จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ แต่ภายในจิตใจต้องดีด้วย มีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นอาชีพที่เป็นตัวแทนของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เชื่อว่าคงไม่มีประชาชนคนไหนตั้งใจจะเลือกคนที่ภาพลักษณ์ไม่ดีไปเป็นตัวแทน การที่เราจะเลือกใครให้ไปเป็นตัวแทนของเรา เราก็ต้องอยากจะเลือกคนที่ภาพลักษณ์ดี มีความรู้ มีความสามารถอยู่แล้ว ดังนั้นถ้านักการเมืองคนไหนแสดงภาพลักษณ์ที่ไม่ดีออกมา ก็ย่อมสะท้อนถึง “ผู้เลือก” นักการเมืองคนนั้นเข้ามาด้วยว่าเป็นคนอย่างไร

“นี่แค่เรื่องการเขียนผิด ๆ ถูก ๆ ยังสะท้อนอะไรได้มากมายนะครับ ถ้าให้ผมวิเคราะห์เรื่องลักษณะของภาษาที่ใช้ ความสุภาพ ความหยาบคายที่นักการเมืองบางส่วนใช้ในสื่อสาธารณะนี่น่าจะคุยกันได้อีกยาว เพราะสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูเหมือนกัน อย่างที่คนเขามักพูดกันครับว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกชาติกำเนิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะทำตัวเองได้ครับว่าอยากให้คนอื่นเห็นภาพแบบไหนของเรา”

ติวเตอร์วิชาภาษาไทย กล่าวว่า ด้วยสถานะและบทบาทผู้แทนประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งต้องระวังให้มาก ต้องตระหนักว่าเป็นคนที่ประชาชนเลือกให้มาเป็นตัวแทน ถ้าตัวแทนแสดงความไร้มารยาทออกมา คนที่โดนด่าไปด้วยไม่ใช่แค่นักการเมืองคนนั้นเท่านั้น แต่ประชาชนที่เลือกมาก็โดนไปด้วย

“ถ้าจะร้องเป็นทำนองเพลงว่า “เลิ่กลั่กทั้งอำเภอ เพราะเลือกเธอคนเดียวรู้ม้ายยยย” ก็คงไม่ผิดนักครับ” เขาเปรียบเทียบ


60349941_10157012844845155_3530461863181549568_n.jpg

ต่อคำถามที่ว่าเรื่องการใช้ภาษานั้น แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานเเต่ก็ดูเหมือนทุกครั้งที่บุคคลสาธารณะใช้ผิด จะถูกโจมตีหรือวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ?

ครูทอมเห็นว่า โดยพื้นฐานแล้วการเรียนรู้ภาษาใดๆ มาจากการเลียนแบบ ถ้าเราเกิดมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน เราก็มักจะใช้ภาษาแบบนั้น เพราะเราได้ยินได้เห็นการใช้ภาษาแบบนั้นซ้ำๆ เช่น ถ้าเราเกิดและเติบโตที่ภาคอีสาน เราก็มีโอกาสจะใช้ภาษาอีสานได้คล่องเพราะเราได้ยินภาษาอีสานมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ถ้าเราเห็นการสะกดคำแบบไหนซ้ำๆ เราก็มักจะสะกดตามอย่างนั้น เพราะเข้าใจว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง

เวลาที่บุคคลสาธารณะใช้ภาษาผิดๆ แล้วมีคนมาโจมตี ก็แสดงให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยังห่วงเรื่องการใช้ภาษาอยู่เหมือนกัน แต่ที่น่าคิดกว่านั้นคือ คนไทยห่วงเรื่องการใช้ภาษาจริงๆ ใช่ไหม หรือแค่อยากจะหาเรื่องโจมตีบุคคลนี้แค่นั้น เวลาบุคคลสาธารณะคนอื่นใช้ภาษาผิดในลักษณะเดียวกันนี้ แต่ละคนโดนโจมตีแบบเดียวกันหรือไม่

“ผมว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นเป็นใคร มีพฤติกรรมแสดงออกอย่างไรด้วยนะครับ ถ้าเป็นบุคคลสาธารณะที่ดูไม่มีพิษมีภัยก็ไม่ค่อยมีใครโจมตีรุนแรงเท่าไหร่นักครับ”


60909062_414416452747384_219172464582721536_n.jpg

เขาย้ำว่า ฐานะบุคคลสาธารณะที่มีพื้นที่สื่อ เมื่อนำเสนอสารใดๆ อาจจะเป็นการโพสต์ข้อความใดๆ หรืออัดคลิปใดๆ ลงในสื่อออนไลน์ ควรระมัดระวังและรอบคอบ เนื่องจากอาจจะส่งผลให้ผู้รับสารซึมซับการใช้ภาษาลักษณะนั้นหากเห็นซ้ำๆ ซึ่งถือเป็นการสั่นคลอนความมั่นใจของผู้ใช้ภาษาได้เหมือนกัน

“ผมเคยเจอคนส่งข้อความมาถามว่าคำนั้นเขียนยังไงกันแน่ เพราะตอนแรกเขาเข้าใจว่าสะกดอีกแบบ ซึ่งเป็นแบบที่ถูกต้องแล้วนะครับ แต่เขาดันเห็นสื่อมวลชนสะกดอีกแบบ ซึ่งเป็นแบบที่ผิด ทำให้เขาไม่มั่นใจว่าตกลงแล้วแบบไหนถูกแบบไหนผิด หรืออีกครั้งหนึ่งมีคนส่งข้อความมาถามว่า “ที่ถูกคือเลือนลางหรือเลือนรางกันแน่ ก่อนหน้านี้มั่นใจว่าเลือนราง แต่เห็นเพลงบางเพลงที่ดัง ๆ นักร้องร้องว่าเลืองลาง” เห็นไหมครับว่าตอนแรกเขาเข้าใจถูกแล้วแท้ๆ ว่าต้องเป็น “เลือนราง” แต่พอเห็นสื่อใช้ว่า “เลือนลาง” มันก็ไปสั่นคลอนความมั่นใจของผู้ใช้ภาษาได้เหมือนกัน”



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :