ไม่พบผลการค้นหา
ยังคงเป็นกระแสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดเผยตัวอย่างบัตรเลือกตั้งที่จะถูกใช้ในการเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่งกำลังมาถึงในวันที่ 14 พ.ค.นี้ โดยมีการพบว่า บัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ในประเภทบัตรเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต กลับมีเพียงแค่ตัวเลขผู้สมัคร และช่องว่างให้ขีดกากบาทลงในช่องเท่านั้น ต่างจากบัตรเลือก ส.ส.แบบบัญรายชื่อ ที่มีการระบุหมายเลข โลโก้พรรค และชื่อพรรค

กระแสวิจารณ์แตกออกไปหลายเสียง บ้างระบุว่าต้นเหตุนั้นเกิดขึ้นจากการที่รัฐสภาไทยชุดที่แล้ว ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งได้แบบสะเด็ดน้ำ แต่กลับแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งออกมาแบบค้างๆ คาๆ จนส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ มีหมายเลขผู้สมัครไม่ตรงกัน แม้ว่าจะมาจากพรรคเดียวกันก็ตาม

ในขณะที่อีกกระแสระบุว่า ความสับสนของหน้าตาบัตรเลือกตั้งในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความ “เอาสะดวกตัวเองแต่เดือดร้อนประชาชน” ของ กกต. ที่จะออกแบบบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพิมพ์ยกโหล ซึ่งหน้าตาเหมือนกันทุกเขตเลือกตั้งของไทย โดยไม่มีการแยกพิมพ์เพื่อใส่ชื่อผู้สมัคร โลโก้ และชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเบต เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน แต่ดูเหมือนว่า กกต.จะยังคงยืนกยันว่า พวกเขาจะไม่แก้ไขรูปแบบบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตให้ดูเข้าใจง่ายแก่ประชาชน

กกต.แถลงท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า พวกเขายึดถือรูปแบบบัตรเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าวมาโดยตลอด ยกเว้นแต่บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวในช่วงปี 2562 ซึ่งบัตรเลือกตั้งในครั้งนั้น มีการใส่ทั้งหมายเลขผู้สมัคร โลโก้พรรค และชื่อพรรคการเมือง โดย กกต.อ้างว่าเป็นการออกแบบในลักษณะดังกล่าวครั้งแรกและครั้งเดียว เพื่อไม่ให้ทุกคะแนนเสียง “ตกน้ำ” และการออกแบบบัตรแบบแบ่งเขตในปี 2566 ที่มีเพียงแค่หมายเลขนั้น เป็นไปเพื่อให้บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมีหน้าตาแตกต่างไปจากบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ อีกทั้งยังช่วยให้ประหยัดงบประมาณ ตลอดจนสะดวกต่อการทำงานของ กกต. ที่จะไม่ต้องมานั่งทำงานธุรการ และเอาเวลาดังกล่าวไปทำอย่างอื่นดีกว่า

หากเปรียบเทียบรูปแบบบัตรเลือกตั้งในปี 2562 แบบใบเดียว ที่มีทุกอย่างอยู่ในกระดาษให้ประชาชนได้ทราบว่าพวกเขาต้องการจะเลือกใคร จากพรรคใด ในหมายเลขใด กับบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในปี 2566 นี้ ประชาชนจึงเกิดข้อสงสัยว่า ปัญหาดังกล่าวอาจไม่ใช่ประเด็นว่า กกต.ไม่สามารถออกแบบบัตรที่มีข้อมูลครบถ้วน นอกจากหมายเลขผู้สมัครในกระดาษโล่งๆ ที่หน้าตาเหมือนกันทั้ง 400 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ แม้เบอร์ผู้สมัครในแต่ละเขตจะไม่เหมือนกัน แต่ประเด็นหลักอาจเป็นแค่ว่า กกต.ไม่ได้อยากจะออกแบบบัตรเลือกตั้งที่เข้าใจง่ายต่อประชาชนก็เท่านั้น

‘วอยซ์’ อยากชวน กกต.ไทยสำรวจหน้าตาบัตรเลือกตั้งจากต่างประเทศ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อความเข้าใจง่ายแก่ประชาชนมากที่สุด เพื่อให้เกิดการสะท้อนเสียงของประชาชน ผ่านการเข้าคูหากาลงช่องหมายเลขผู้สมัครที่พวกเขาต้องการให้เข้าไปทำงานในรัฐสภา เพื่อเป็นตัวแทนและปากเสียงของเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง


บัตรเลือกตั้งไทย.jpg
บัตรเลือกตั้งไทย

บัตรเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต มีเพียงแค่ตัวเลขผู้สมัคร และช่องว่างให้ขีดกากบาทลงในช่องเท่านั้น ต่างจากบัตรเลือก ส.ส.แบบบัญรายชื่อ ที่มีการระบุหมายเลข โลโก้พรรค และชื่อพรรค


เยอรมนี.jpg
บัตรเลือกตั้งเยอรมนี

บัตรเลือกตั้งระดับสหพันธรัฐเยอรมนี ถูกออกแบบมาเพื่อสะท้อนการระบการเลือกตั้งในระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (mmp) โดยในบัตรเลือกตั้งของเยอรมนีเมื่อการเลือกตั้งระดับสหพันธรัฐในปี 2564 ที่ผ่านมา เยอรมนีใช้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวแต่แบ่งฝั่งเลือก โดยในด้านซ้าย (สีดำ) จะเป็นการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการระบุหมายเลขผู้สมัคร ชื่อผู้สมัคร และชื่อพรรค ในขณะที่ด้านขวา (สีฟ้า) จะเป็นการเลือกพรรคการเมือง โดยจะมีการระบุชื่อพรรคอย่างชัดเจน


นิวซีแลนด์.jpg
บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์

คล้ายกันกับกรณีของเยอรมนี นิวซีแลนด์ใช้บัตรเลือกตั้งแบบพรรคและผู้สมัครในใบเดียวกัน แต่บัตรเลือกตั้งของนิวซีแลนด์มีความพิเศษกว่าคือ นิวซีแลนด์มีการใส่โลโก้ของพรรคทั้งในบัตรเลือกตั้งแบบพรรคและผู้สมัคร ตามช่องของชื่อพรรคและชื่อผู้สมัครอย่างชัดเจน


อินเดีย.png
บัตรเลือกตั้งอีเล็กทรอนิกส์อินเดีย

อินเดียใช้ระบบการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ หรือประสบกับกำแพงทางภาษาในประเทศที่มีความแตกต่างของประชากรศาสตร์อย่างสุดขั้ว โดยระบบการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์จะเอื้อให้ประชาชนสามารถใช้นิ้วกดปุ่มบริเวณเครื่องลงคะแนน หลังจากการยืนยันตัวตนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยบนเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกซ์จะมีรายละเอียดชื่อผู้สมัคร ชื่อพรรคผู้สมัคร รูปใบหน้าผู้สมัคร และโลโก้พรรคระบุอย่างครบครัน


ไต้หวัน.jpg
บัตรเลือกตั้งไต้หวัน

ไต้หวันปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดี โดยในบัตรเลือกตั้งของไต้หวัน มีการระบุทั้งเบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ชื่อผู้สมัคร ชื่อพรรคการเมือง ตลอดจนใบหน้าของผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีไต้หวัน เพื่อให้ประชาชนไม่เกิดความสับสนว่าตัวเองต้องการจะเลือกใคร


แอฟริกาใต้.jpg
บัตรเลือกตั้งแอฟริกาใต้

บัตรเลือกตั้งทั่วไปแอฟริกาใต้เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ในบัตรมีรายละเอียดชื่อพรรค ใบหน้าผู้สมัคร  ชื่อย่อพรรค และโลโก้พรรคการเมือง พร้อมกับการพิมพ์บัตรเลือกตั้งในรูปแบบสี่สีชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อประชาชนในการดูรายละเอียดของบัตร ก่อนจะตัดสินใจกาผู้สมัครที่ตัวเองต้องการให้เข้าไปเป็นตัวแทนในรัฐสภา