ไม่พบผลการค้นหา
หากถามว่า มีใครได้อ่านแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อสัปดาห์แล้วบ้าง? เชื่อว่า นอกจากข้าราชการตัวเล็กๆ ที่ต้องอ่านเพื่อสรุปให้นายฟัง ก็น่าจะมีแต่นักวิชาการไม่ก็สื่อมวลชนเท่านั้น ที่จะขวนขวายหาอ่านเอกสารปึกใหญ่กองนี้มาอ่าน

ทั้งๆ ที่ มันเคยเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนนับแสน-นับล้าน ออกมา “เป่านกหวีด” เรียกร้องให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เลือกตั้งจะไปเลื่อนไปก่อนก็ได้ ขอให้ปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นก่อน

ผมเริ่มต้นอ่านแผนการปฏิรูปประเทศซึ่งมีความหนารวมกัน 2,166 หน้าด้วยความตื่นเต้น ก่อนที่อารมณ์จะคลี่คลายไปในทางเคร่งเครียด ห่อเหี่ยว และหดหู่ ในเวลาต่อมา

ภาพรวมของแผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน จะแบ่งโครงสร้างในการเขียนเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ (1) สถานการณ์และแนวโน้ม ที่จะพูดถึงปัญหาในอดีต และสิ่งที่น่าจะเกิดในอนาคต หากไม่แก้ปัญหาตั้งแต่ตอนนี้ (2) เป้าหมาย คือสิ่งที่อยากให้ไปถึง พร้อมกำหนดตัวชี้วัดไว้ด้วยว่า ต้องทำแค่ไหนถึงจะเรียกได้ว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว (3) ขั้นตอนและวิธีดำเนินการ จะมีการกำหนดไทม์ไลน์ว่าภายใน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปีต้องทำอะไรบ้าง และจะใช้งบประมาณเท่าใด และ (4) รายละเอียดการปฏิรูปในประเด็นย่อยๆ เพราะการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านจะมีประเด็นยิบย่อยมากมายเป็นสิบๆ หัวข้อ แต่ละหัวข้อย่อยก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป

ความรู้สึกแรกที่ได้อ่านเลยคือ ข้อเสนอต่างๆ หากไม่เป็น “นามธรรม” เกินไป ก็เป็น “งานรูทีน” ที่หน่วยงานราชการต่างๆ จำเป็นต้องปฏิบัติอยู่แล้ว

เช่น แผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่เน้นไปที่การเสริมสร้างจิตสำนึกให้เกิดความเข้าใจรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เคารพผู้ใหญ่ ผ่านการใช้สื่อ ฝึกอบรม หรือทำกิจกรรม เพื่อสร้างจิตสำนึก

หรือแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเท่าที่อ่านดูคร่าวๆ คล้ายกับงานที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องทำอยู่เป็นประจำทุกปี

ไม่รวมถึงข้อเสนอบางอย่าง ซึ่งเท่าที่ปรากฎในเอกสารคล้ายยังทำไม่แล้วเสร็จ เช่น แผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิรูปหลายหัวข้อ ถ้าไม่ใส่จุดไข่ปลา ... จำนวนมาก (เพื่อบอกเป็นนัยว่า รอเติมข้อความเข้ามาภายหลัง) ก็มักเขียนว่า “อยู่ระหว่างรอตอบกลับ” หรือ “อยู่ระหว่างการหารือ” กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นี่คือแผนการปฏิรูปประเทศฉบับ final แล้ว ???

แม้ว่าหลายๆ ข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศจะน่าสนใจและชวนให้ถกเถียงต่อถึงข้อดี-ข้อเสีย เช่น การขยายเวลาเกษียณอายุราชการจาก 60 ปี ไปเป็น 63 ปี เพื่อให้สอดรับกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, การลดจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐลง 10% ภายใน 5 ปี เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน, การแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการนำระบบ Negative Income Tax (NIT) มาใช้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย, การผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้วิ่งบนถนนและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น โซลาร์รูฟ ฯลฯ แค่เหล่านี้ก็เป็นเพียงข้อเสนอส่วนน้อย ที่อ่านแล้วจะรู้สึกว้าว

หากนี่คือแผนการปฏิรูปประเทศ “ร่างแรก” ที่เพิ่งจัดทำขึ้นในยุครัฐบาล คสช.เข้ามาใหม่ๆ เพื่อที่จะได้ระดมความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ไปต่อยอดลงรายละเอียด ก็พอจะเข้าใจได้

แต่เอกสารนี้เป็นผลจากความพยายามในการปฏิรูปประเทศครั้งที่ 3 แล้ว (หลายคนอาจตกใจว่า ปฏิรูปประเทศไป 2 ครั้งแล้วเหรอ คำตอบคือ ใช่!) แถมยังจัดทำขึ้นเมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 ของรัฐบาล คสช.อีกต่างหาก

เมื่อผลออกมาเช่นนี้ ก็ชวนให้สงสัยว่า ผู้มีอำนาจยุคปัจจุบัน ตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศมากน้อยแค่ไหน ?

อย่าลืมว่า เราเคยมี สปช. และ สปท. ขึ้นมาจัดทำข้อเสนอปฏิรูปประเทศไปแล้ว ใช้งบรวมกันไม่น้อยกว่า 1,888 ล้านบาท ในการจัดทำข้อเสนอปฏิรูปประเทศ ซึ่งถ้ายังจำกันได้ เมื่อจัดทำเสร็จมีการปิดโรงแรมหรูกลางเมืองทำพิธีส่งมอบให้รัฐบาลไปสานต่อ พร้อมกับแจกเอกสารประมาณ 1 คันรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปศึกษา

และที่น่าสนใจก็คือ ตามแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้านรอบใหม่ ได้ระบุงบที่จะใช้อยู่ที่ขั้นไม่ต่ำกว่า 7.17 แสนล้านบาท

ผู้มีอำนาจมักอ้างว่า การปฏิรูปประเทศเพิ่งเริ่มต้น ถ้าจะให้ได้ผลเป็นรูปธรรม ต้องให้เวลาเขาได้ทำงานต่อ เป็นที่มาของความพยายามในการสืบทอดอำนาจ ที่ล่าสุด ชัดเจนแล้วว่า คสช.กับคณะจะหาวิธีให้ได้เป็นรัฐบาลต่อไปหลังเลือกตั้ง (นอกเหนือจากการขยับเลือกตั้งไปเรื่อยๆ)

แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะแยกหมวดปฏิรูปประเทศ ออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่งเลยต่างหาก รวมถึงให้อำนาจ ส.ว. ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ นั่นแปลว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องปฏิรูปประเทศอยู่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นลุงตู่ ลุงป้อม บิ๊กป๊อก สมคิด สนธิรัตน์ อุตตม หรือกอบศักดิ์

จึงน่าสนใจว่า ที่สุดแล้ว แผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ที่จัดทำในยุค คสช. จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในประเทศถึงขั้นพลิกฟ้า-คว่ำดินให้สมกับคำว่า “ปฏิรูป” มากน้อยแค่ไหน หรือจะกลายเป็นแค่กองกระดาษที่จะถูกนำไปขังลืมไว้ในลิ้นชักหรือบนหิ้ง

เพราะเอาเข้าจริง ในทางการเมือง แคมเปญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ได้บรรลุภารกิจของมันไปตั้งแต่ปี 2557 แล้ว

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog