ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันการเดินหน้าพิจารณา 2 คดีที่เกี่ยวข้องกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ขณะที่พรรคเพื่อไทยแย้งว่าการรื้อคดีดังกล่าวขัดต่อหลักสากล

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันตามกฎหมายพิจารณาคดีลับหลังได้ แต่ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดี โดยสามารถส่งตัวแทนมาต่อสู้ หรืออาจสละสิทธิได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวก็มีใช้กันในหลายประเทศ และไม่ได้เสี่ยงต่อการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน แต่การขัดหลักสิทธิมนุษยชนคือการรวบรัดตัดความ ไม่ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดี

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุว่า กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุด เดินหน้ายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อ ให้รื้อคดีของ ดอกเตอร์ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย คดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร และคดีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิตนั้น 

แม้จะเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณา คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปี 2560 ที่เพิ่งประกาศใช้ แต่การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยถือเป็นการขัดต่อหลักสากลที่พิจารณาคดีอาญา ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ซึ่งการพิจารณาและพิพากษาฝ่ายเดียวนั้นจะนำไปใช้เฉพาะคดีแพ่งเท่านั้น ดังนั้น ไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้กับจำเลยในคดีอาญา แต่กลับละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของจำเลย และยังขัดต่อหลักนิติธรรม

อีกทั้ง การเริ่มต้นของคดีดังกล่าวยังมาจากผลของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549ที่มีการตั้ง คตส.มาดำเนินการเอาผิด ทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยในความเป็นกลางทางการเมือง ส่วนบทเฉพาะกาลของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 69 ที่ให้มีผลย้อนหลังกับคดีที่เกิดขึ้นก่อนนั้น โดยหลักไม่อาจนำกฎหมายไปใช้บังคับกับบุคคลที่การกระทำเกิดขึ้นก่อนกฎหมาย ประกาศใช้ได้