ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ออนไลน์ เปิดโหวตความเห็นร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พบว่าร้อยละ 55 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 45 เห็นด้วย

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา 'วอยซ์ ออนไลน์' เปิดให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ามาร่วมโหวตและแสดงความเห็น กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ที่กำหนดให้เจ้าของสุนัขและแมวขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และจ่ายค่าตีทะเบียนรวม 450 บาท หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท 

ผลปรากฏว่ามีผู้เข้ามาโหวตแสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยรวมทั้งสิ้น 18,000 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 55 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 45 เห็นด้วย โดยผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดส่วนหนึ่งระบุว่า เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียน แต่ค่าตีทะเบียนจำนวน 450 บาทนั้นยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าเป็นค่าใช้จ่ายครั้งแรกเพียงครั้งเดียว หรือต้องมีการจ่ายรายปีอีก และยังไม่แน่ใจว่า จะมีหน่วยงานใดเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

บางรายแสดงความเห็นว่า การที่รัฐให้ขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว ตัวละ450บาทนั้น ไม่ได้มีการชี้แจงว่าหลังจากขึ้นทะเบียนแล้วรัฐจะดูแลด้านใดกับสุนัขและแมวที่ขึ้นทะเบียน

ขณะที่บางราย ระบุเกรงว่าหากมีการประกาศใช้กฎหมายนี้ออกมาจะทำให้เกิดปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในชนบท โดยมองว่ากฎหมายฉบับนี้เหมาะสำหรับสังคมเมืองที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และควรให้อำนาจตั้งแต่เทศบาลเมืองขึ้นไปเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ 

อย่างไรก็ตาม ในภายหลัง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ โดยได้กล่าวขอโทษ ที่เสนอคณะรัฐมนตรีเร็วไป ไม่ได้ชี้แจงประชาชน และในฐานะกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นเจ้าของร่างกฎหมายการขึ้นทะเบียน ค่าปรับต่างๆ ยังไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ ในที่ประชุมครม.วันที่ 10 ตุลาคม นายกฯ เห็นว่าหลักการกฎหมายเป็นประโยชน์ แต่รายละเอียดบางประเด็น เช่น ค่าธรรมเนียมและค่าปรับ ที่อาจเป็นภาระแก่ประชาชน จึงให้กระทรวงเกษตรฯ กลับไปทบทวน แล้วเสนอมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ นายกฤษฎายืนยัน จะเดินหน้าในแนวทางเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนและมีความเหมาะสมการดูแลสวัสดิภาพสัตว์จะไม่ปล่อยให้ล่าช้า พยายามให้ทันในรัฐบาลนี้


ขณะที่ กรมปศุสัตว์ออกหนังสือชี้แจง เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ยังไม่มีผลบังคับใช้ และเป็นร่างที่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 3 วาระ อีกทั้ง นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยหลักการของร่าง พ.ร.บ. เป็นประโยชน์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งทำให้เจ้าของมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนมากขึ้น แต่ยังมีบทบัญญัติบางประการ เช่น การขึ้นทะเบียนและการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และอัตราการค่าปรับ อาจเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงเกษตรฯ รับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกลับไปพิจารณาทบทวนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับความเหมาะสมของบทบัญญัติ ตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี โดยต้องไม่เป็นภาระของประชาชน แล้วเสนอ ครม. อีกครั้งหนึ่ง

กรมปศุสัตว์.jpg


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :