ไม่พบผลการค้นหา
'พิชัย' แนะ 'ประยุทธ์' ยกเลิกแก๊สโซฮอลล์ E10-E20 แก้ปัญหาแอลกอฮอล์ขาดแคลน ชี้ราคาแพงกว่าราคาน้ำมัน 4 เท่า เตือนแนวทางพลังงานเอื้อนายทุนทำประเทศเสียหาย

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจากหน้ากากอนามัยจะขาดแคลนแล้ว แอลกอฮอล์ที่มีความจำเป็นในการใช้ทำความสะอาดและกำจัดไวรัสโควิด-19 ก็ยังขาดแคลนอย่างมาก ดังนั้นจึงเสนอให้ยกเลิกการผสมแอลกอฮอล์ในน้ำมันในแก๊สโซฮอล์ ซึ่งใช้ถึงวันละประมาณ 4 ล้านลิตร แล้วนำมาผลิตแอลกอฮอล์กำจัดไวรัสโควิด-19 ซึ่งเชื่อว่าจะมีปริมาณพอเพียง เหลือเท่าไหร่ ค่อยนำไปผสมแก๊สโซฮอล์ ซึ่งจะทำให้มีแอลกอฮอล์เหลือใช้เพียงพอในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงด้วย เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ลดต่ำลงมากราคาเนื้อน้ำมันที่กลั่นแล้วเหลือเพียงลิตรละ 5.08 บาทสำหรับเบนซิน 95 แต่ราคาเอทานอลสูงถึงลิตรละ 23.28 บาท หรือ สูงมากกว่า 4 เท่า จึงไม่จำเป็นต้องผสมแล้ว 

นายพิชัย กล่าวว่า ในอดีตสมัยที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาแพง ราคาน้ำมันสูงถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเนื้อน้ำมันที่กลั่นแล้วกับราคาเอทานอลมีราคาใกล้เคียงกัน ตนจึงสั่งให้ยกเลิกเบนซิน 91 และใช้แก๊สโซฮอล์ E10 เป็นน้ำมันหลัก เพื่อให้มีการใช้เอทานอลมากขึ้น เพื่อประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันและยังช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งทำให้มีการใช้เอทานอลเพิ่มจากวันละ 1 ล้านลิตรเป็น 4 ล้านลิตร

แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันลดต่ำลงมาก เหลือแค่ 20-30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสงครามราคาน้ำมันของประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศรัสเซีย และจากการใช้น้ำมันทั้งโลกที่ลดลงมากจากคนงดเดินทางในช่วงวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 และยังมีแนวโน้มที่ราคาจะต่ำอีกนาน จึงไม่ควรจะต้องผสมเอทานอลแล้ว เพราะราคาเอทานอลแพงกว่าราคาน้ำมันมาก และน่าจะนำมาใช้ป้องกันและจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะได้ประโยชน์มากกว่า


แนวคิดของกระทรวงพลังงานที่จะยกเลิก E10 (ที่ผสมเอทานอล ร้อยละ 10) ทั้งหมดให้เปลี่ยนเป็น E20 (ที่ผสมเอทานอล ร้อยละ20) น่าจะเป็นแนวคิดที่ผิด ไม่ควรจะแค่เลื่อนแต่ควรจะต้องยกเลิกไปเลย เพราะจะทำให้ประชาชนใช้น้ำมันแพงขึ้นโดยไม่มีเหตุผล และน่าจะต้องการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนที่ผลิตแอลกอฮอล์เท่านั้น และอย่าอ้างว่าจะนำมาผลิตแอลกอฮอล์กำจัดไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ซึ่งไม่จริง โรงงานสามารถปรับเปลี่ยนมาผลิตแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดไวรัสโควิด-19ได้อย่างแน่นอน


นายพิชัย กล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องแอลกอฮอล์แล้ว ตลอด 5 ปีนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ยังได้บริหารจัดการเรื่องพลังงานผิดพลาดมาตลอด ทั้งที่พล.อ.ประยุทธ์เคยตำหนิผมไว้เอง แต่กลับทำเองแย่กว่ามาก ยิ่งกว่าอิเหนาเมาหมัด และยังทำให้ประชาชนสับสน โดยรัฐบาลได้เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันในระดับสูงโดยเฉพาะการเก็บภาษีสรรพสามิตกับน้ำมันดีเซล ทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมาก และตอนนี้ก็ไม่ควรลดภาษีแล้วเพราะราคาน้ำมันได้ถูกลงอีก แต่ควรนำเงินภาษีไปช่วยต่อสู้วิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 จะดีกว่า อีกทั้งรัฐบาลโดย ครม. ยังอนุมัติให้บริษัทลูก กฟผ. ไปซื้อหุ้นเหมืองถ่านหิน 1.17 หมื่นล้านบาท ได้หุ้นมาเพียงร้อยละ 11-12 ซึ่งราคาหุ้นตอนนี้ทรุดฮวบจึงขาดทุนหนักมากจากการที่โลกรังเกียจการใช้ถ่านหิน และราคาถ่านหินก็ยังถูกลงมากตามราคาน้ำมัน 

ทั้งนี้ ล่าสุดยังมีความพยายามที่จะทำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเริ่มที่ 700 เมกกะวัตต์ และ อาจทำไปถึง 1,900 เมกกะวัตต์ ทั้งที่ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทยมีปริมาณเกินปริมาณการใช้จริงอยู่ถึงร้อยละ 32 จากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ โดยจะมีการซื้อไฟฟ้าในราคาสูงกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าปกติประมาณเท่าตัว (ราคารับซื้อจากโรงไฟฟ้าชุมชน 4.2-4.8 บาทต่อหน่วย จากราคารับซื้อปกติ 2.4 บาทต่อหน่วย) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนในอนาคต ทั้งนี้จากข้อมูลที่ได้รับน่าจะมีบริษัทเอกชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ เพราะมีข้อครหาว่ามีการวิ่งเพื่อจะขายใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าล่วงหน้ากันแล้ว ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนมากกว่าทำประโยชน์ให้ชุมชนตามที่อ้าง หากจะดำเนินการต่อจะต้องมั่นใจได้ว่าชุมชนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงและต้องตรวจสอบได้ 

นอกจากนี้ในโครงการ อีอีซี ก็จะมีการอนุญาตให้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกันอีก นอกแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศโดยอ้างเอกสิทธิ์ของคณะกรรมการ อีอีซี ทั้งที่การผลิตไฟฟ้าในบริเวณภาคตะวันออกมีมากเกินพออยู่แล้ว ซึ่งมีข้อครหาว่าอาจจะมีการหาประโยชน์จากการออกใบอนุญาตผลิดไฟฟ้าเรื่องนี้เช่นกัน รวมถึงความพยายามในการเปลี่ยนที่ดินจากพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ EEC ที่ห้ามสร้างโรงงานให้กลายเป็นพื้นที่สีม่วงที่สร้างโรงงานได้เพื่อเก็งกำไรที่ดินกันด้วย 

ในภาวะวิกฤตอยากให้รัฐบาลได้ศึกษารายละเอียดให้รอบด้านก่อนที่จะอนุมัติ อย่าอนุมัติโดยไม่ได้มีการพิจารณาและตรวจสอบให้ดี และอาจเป็นช่องทางของการทุจริต ซึ่งสุดท้ายแล้วประเทศอาจจะเดินผิดทางและจะเป็นผลเสียกับประเทศในระยะยาว 

ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่านไปแล้ว โลกจะเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm)ใหม่ และโลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อีกทั้งยังมีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนักทั่วโลก รัฐบาลนอกจากจะต้องแก้ปัญหาที่หนักหนาสาหัสในปัจจุบันแล้ว รัฐบาลยังจะต้องเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่ารัฐบาลปัจจุบันจะมีความสามารถเพียงพอในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ขนาดไหน เพราะแค่การรับมือในปัจจุบันก็ยังลำบากแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :