ไม่พบผลการค้นหา
มติ ครม. เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 ไฟเขียวกรมสรรพสามิตเก็บภาษีลดลงมาอยู่ที่ 5.152 บาท/ลิตร ชดเชยกับการเก็บภาษีน้ำมันดีเซล B7 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.980 บาท/ลิตร คาดรัฐใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหนุน 3,000 ล้านบาทต่อปี

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่.. ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกรมสรรพสามิตกำหนดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล B20 อยู่ที่ 5.152 บาท/ลิตร ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2561 และ 8 มิ.ย. 2561 

โดย ครม.เห็นชอบ 1) แนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 2) กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต B20 อยู่ที่ 5.152 บาท/ลิตร เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และปรับอัตราภาษีน้ำมันดีเซล B7 จาก 5.85 บาท/ลิตร เป็น 5.980 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 13 สตางค์ต่อลิตร โดยกระทรวงพลังงานจะใช้กองทุนน้ำมันสนับสนุนส่วนต่าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล  

ทั้งนี้ มาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อสนับสนุนน้ำมันดีเซล B20 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าบริการขนส่ง และค่าโดยสารสาธารณะ รวมทั้ง เป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอีกทางหนึ่ง โดยการกำหนดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล B20 คำนวณจากเฉพาะเนื้อน้ำมันดีเซล ไม่ได้คิดภาษีในส่วนของน้ำมันปาล์ม


"การจำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 นี้ จะให้เฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้า ซึ่งน้ำมันดีเซล B20 จะจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าน้ำมันดีเซล B7 จำนวน 3 บาท และใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้ามาสนับสนุน" น.ส.กุลยา กล่าว


ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานจะประชุมหารือกับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และผู้ประกอบการรถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อประชาสัมพันธ์การใช้ B20 ต่อไป

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุด ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า รายได้ภาษีสรรพสามิตที่ลดลงในกรณีน้ำมันดีเซล B20 ที่หายไป จะชดเชยด้วยเงินภาษีจากน้ำมันดีเซล B7 ที่บวกเพิ่มขึ้นมารวมกับเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อบวกลบกลบหนี้กันแล้ว คาดว่ารายได้ภาษีสรรพสามิตจะไม่ได้ลดลงไปจากปีที่ผ่านๆ มามากนัก

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตประเมินว่า ปีงบประมาณ 2561 คาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 600,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากมาตรการสาธารณสุขที่รณรงค์เรื่องเหล้า บุหรี่ 

ขณะที่ นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและพัฒนาการจัดเก็บภาษี 2 กรมสรรพสามิต ระบุว่า มาตราการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B20 ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีสัดส่วนน้ำมันปาล์มร้อยละ 20 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน เนื่องจากปัจจุบันมีผลผลิตปาล์มน้ำมันค้างสต็อกอยู่ถึง 6 แสนล้านลิตร ต จากปริมาณมีสต็อกประมาณ 4-5 แสนล้านลิตร ดังนั้นจึงใช้กลไกทางภาษีเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรและควบคุมปริมาณสต็อกไม่ให้ล้นตลาด

อย่างไรก็ตาม น้ำมันดีเซล B20 ยังจำกัดการใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่บางรุ่นบางยี่ห้อที่รองรับพลังงานประเภทนี้ ซึ่งปัจจุบันตามข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานมีผู้ค้านน้ำมันตามมาตรา 7 จำนวน 5 ราย อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ที่ได้สิทธิ์จำหน่ายน้ำมันชนิดนี้ และมีผู้ประกอบการรถบรรทุกประเภท Fleet หรือ กลุ่มรถ เช่น ผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสาร ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ประมาณ 30 รายเท่านั้นที่ลงทะเบียนกับกระทรวงพลังงานและแสดงความจำนงค์ใช้เชื้อเพลิงประเภทนี้

"น้ำมันดีเซล B20 ใช้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่บางยี่ห้อ ไม่ได้สามารถใช้กับรถยนต์ทั่วไปได้ ดังนั้น น้ำมันดีเซล B20 จึงขายสำหรับฟลีต (Fleet) ทั่วไปที่ตกลงกับกรมธุรกิจพลังงานฯ ซึ่งเบื้องต้นเราคาดว่าจะมีปริมาณการใช้ 1.5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งไม่ได้เยอะ อีกทั้งปัจจุบันการใช้น้ำมันดีเซล B20 และ B7 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด" นายธิบดีกล่าว


ทั้งนี้ เดิมอัตราภาษีน้ำมันดีเซล B20 อยู่ที่ 5.85 บาทต่อลิตร ขณะที่่ส่วนต่างระหว่างน้ำมันดีเซล B20 และ B7 ที่เกิดขึ้น 3 บาท นั้น มาจากภาษีสรรพสามิต 80 สตางค์ ส่วนอีก 2.10 บาท เป็นเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม น้ำมันดีเซล B20 จะเริ่มจำหน่ายให้รถบรรทุกตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2561 โดยจะใช้เงินอุดหนุนประมาณ 3,000 ล้านบาทของเงินกองทุนฯ 

นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.) มีประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. เรื่องการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนกองทุนและอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง อีกรอบ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. เป็นต้นไป 


ข่าวเกี่ยวข้อง :