ไม่พบผลการค้นหา
ซาอุดิอาระเบียยังคงปกครองอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบบกฎหมายที่ถูกตีความมาจากศาสนาอิสลาม มันจึงแทบจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สื่อบันเทิงโดยเฉพาะภาพยนตร์จะถูกทางการซาอุดิอาระเบียแบน อย่างไรก็ดี ซาอุดิอาระเบียเพิ่งยกเลิกการแบนภาพยนตร์ แถมมีการจัดเทศกาลภาพยนตร์อีกด้วย

ดารานักแสดงทั้งหญิงและชายทั่วทั้งซาอุดิอาระเบีย อาหรับ และภูมิภาคอื่นๆ ต่างเดินพรมแดงในงานเทศกาลภาพยนตร์ Red Sea Film Festival ในเมืองเจดดาห์ อย่างไรก็ดี ดาราหญิงยังได้สวมชุดเดรสที่สวยงาม แทนภาพคุ้นตาที่โลกมีต่อหญิงซาอุดิอาระเบียในชุดอบายะห์ หรือชุดผ้าคลุมสีดำห่มปิดตั้งแต่ปลายผมยันปลายเท้าเพื่อเข้าร่วมงาน

อดีตประเทศผู้แบนโรงภาพยนตร์มา 35 ปี

เมื่อ ค.ศ.2018 เด็กๆ ชาวซาอุดิอาระเบียหลายคนต่างรีบเร่งเพื่อเข้าจองตั๋วภาพยนตร์ เมื่อ Black Panther ภาพยนตร์ซูปเปอร์ฮีโร่ชื่อดังจากสหรัฐฯ ได้รับการเข้าฉายครั้งแรกในซาอุดิอาระเบีย หลังจากประเทศแห่งนี้แบนโรงภาพยนตร์มาตลอด 35 ปี จนทำให้ก่อนหน้านี้ ชาวซาอุดิอาระเบียต้องเดินทางข้ามไปประเทศไปชมภาพยนตรืบนจอใหญ่ของ บาห์เรน และ คูเวต ซึ่งไม่มีการแบนโรงภาพยนตร์

ขบวนการเคร่งศาสนาอิสลามในซาอุดิอาระเบีย เริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1980 อันเป็นปฏิกิริยาโต้กลับจากการปฏิวัติอิสลามเพื่อโค้นล้มราชวงศ์ในอิหร่าน ประเทศคู่แค้นทั้งในทางการเมืองและนิกายทางศาสนา กล่าวคือนิกายซุนนีในซาอุดิอาระเบีย และนิกายชิอะห์ในอิหร่าน ซึ่งทั้งสองนิกายต่างมีการตีความทางศาสนาอิสลามที่ต่างกันออกไป

นอกจากกฎหมายแบนโรงภาพยนตร์จากการตีความทางศาสนาอิสลามแล้ว โครงสร้างพื้นฐานของซาอุดิอาระเบียเมื่อราว 3 ทศวรรษก่อน ยังคงไม่พร้อมต่อการตั้งโรงภาพยนตร์ขึ้น ทำให้ภาคเอกชนในประเทศต่างไม่สามารถลงทุนในการเปิดโรงภาพยนตร์ขึ้น

จนเมื่อทศวรรษที่ 1990 ที่โทรทัศน์เริ่มถูกนำมาใช้เป็นสื่อเพื่อความบันเทิงอย่างแพร่หลาย ประชาชนชาวซาอุดิอาระเบียเริ่มเข้าถึงสื่อมากขึ้น แต่พวกเขาเองยังคงไม่มี ‘จอผ้าใบ’ ขนาดใหญ่ในโรงภาพยนตร์ได้เลือกดูกัน เหตุผลเหล่านี้นำมาซึ่ง “การท่องเที่ยวเชิงโรงภาพยนตร์” ที่หนุ่มสาวชาวซาอุดิอาระเบียจะเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อเข้าไปชมภาพยนตร์จากโรงภาพยนตร์ในประเทศอื่นๆ

ภาพยนตร์กับเม็ดเงินที่เคยหายไป

เนื่องจากการแบนภาพยนตร์ในประเทศมาอย่างยาวนาน ทำให้ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวซาอุดิอาระเบียหลายคนต้องออกไปแสวงหาช่องทางในการสร้างภาพยนตร์นอกประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ไฮฟาอ์ อัล-มานซูร์ ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงคนแรกของซาอุดิอาระเบีย ที่เธอส่งภาพยนตร์ของตัวเองอย่าง ‘Wadjda’ ใน ค.ศ.2012 เข้าประกวด จนได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติมามากมาย

ในขณะเดียวกัน เมื่อซาอุดิอาระเบียไม่มีโรงภาพยนตร์เป็นของตัวเอง เม็ดเงินจากการชมภาพยนตร์ของชาวซาอุดิอาระเบียจึงไหลออกนอกประเทศไป มีการประเมินว่า รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศต่อปีที่ซาอุอาระเบียจะทำได้ใน ค.ศ.2030 อาจพุ่งสูงขึ้นถึง 950 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท) ในขณะที่ ค.ศ.2017 หน่วยงานของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียคาดการณ์ว่า ประชาชนในประเทศใช้เงินไปกับการเสพสื่อบันเทิงนอกประเทศประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท)

จนเมื่อ ค.ศ.2018 ซาอุดิอาระเบีย ภายใต้การนำของ โมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบีย ได้พยายามปรับโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ จนนำมาสู่การเปิดโรงภาพยนตร์ขึ้นใหม่ การปรับตัวในครั้งนี้ทำให้ประชากรกว่า 40 ล้านคนของซาอุดิอาระเบีย มีจอภาพยนตร์อย่างน้อย 2,600 จอให้พวกเขารับชมภาพยนตร์ในประเทศทันที จากเดิมที่ผู้คนต่างต้องรับชมภาพยนตร์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น

“โรงภาพยนตร์จะเป็น soft power ที่ช่วยปูทางไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่กำลังเกิดขึ้น (ในราชอาณาจักรแห่งนี้)” อาห์เหม็ด อัล-มุลลา ผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์ของซาอุดิอาระเบียระบุ ทั้งนี้ MBC Studios บริษัทผู้ผลิตสื่อขนาดใหญ่ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวซาอุดิอาระเบีย กำลังทุ่มทุนกับธุรกิจภาพยนตร์ในประเทศอย่างหนัก หลังจากมีข้อวิจารณ์ว่าซาอุดิอาระเบียขาดเงินทุนและผู้เชี่ยวชาญในการสร้างภาพยนตร์

ปฏิรูปประเทศด้วย Soft Power ของราชวงศ์

เจ้าชายโมฮัมหมัด มกุฎราชกุมารของซาอุดิอาระเบีย พยายามปฏิรูปประเทศของตน โดยเริ่มมอบสิทธิทางการเมืองด้านต่างๆ อย่างจำกัดให้แก่ประชาชน เช่นก่อนหน้านี้ที่ซาอุดิอาระเบียได้ประกาศอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้ เช่นเดียวกันกับการคืนความบันเทิงให้ประชาชน ผ่านการเปิดโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ ค.ศ.2018 เป็นต้นมา

โมฮัมหมัด ในวัย 35 ปี พยายามเข้าถึงกลุ่มเยาวชนในประเทศ ด้วยการปรับโครงสร้างประเทศให้มีความเป็นสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้สูงอายุในประเทศมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่นับล้านต่างเดินทางออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาเสรีภาพ โดยเฉพาะด้านการศึกษา

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียได้ประกาศวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่อการลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับการส่งออกน้ำมัน ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากราคาน้ำมันโลกที่มีความผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ซาอุดิอาระเบียสูญเงินทุนสำรองประเทศไปกว่า 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6 ล้านล้านบาท) จากความผันผวนของราคาน้ำมัน

ซาอุดิอาระเบียประกาศ ‘Vision 2030’ ผ่านการลงทุนด้านเหมืองแร่ และการขยายการผลิตผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ทางการทหาร รวมถึงการปรับนโยบายด้านการเงิน การถือหุ้นบริษัทน้ำมัน การเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในภาคการทำงาน และภาคธุรกิจบันเทิงก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในครั้งนี้ โมฮัมหมัด ระบุว่า ซาอุดิอาระเบียกำลังเสพติดน้ำมัน และประเทศของพวกเขาจะต้องอยู่ให้ได้โดยปราศจากน้ำมันใน ค.ศ.2020 ธุรกิจโรงภาพยนตร์จึงเป็นอีกทางออกหนึ่งของซาอุดิอาระเบียในทางเศรษฐกิจ รวมถึงการปรับนโยบายเพื่อความเป็นสมัยใหม่ไปโดยปริยาย

ที่มา:

https://www.france24.com/en/live-news/20211206-from-cinema-ban-to-film-festival-saudi-rolls-out-red-carpet-1?fbclid=IwAR0BEOu8iF-m9jtkChbs8LPxO1hJg10iTkAzU7BNcvuvCufEBZhJpr2XqjY

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-43738718

https://theculturetrip.com/middle-east/saudi-arabia/articles/so-why-have-cinemas-in-saudi-arabia-been-banned-for-35-years/

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-36131391